วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

เดลินิวส์เจ๋งกวาด 10รางวัล ประกวดภาพน้ำท่วม "สุรเชษฐ์ วัชรวิศิษฎ์" ชนะเลิศประเภทสื่อมวลชน


วันนี้ (21 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม (สปร.) ได้ประกาศผลการประชุมคณะกรรมการตัดสินการประกวดภาพถ่าย "อุทกภัย 2554 คนไทยไม่ทิ้งกัน" โดยมีการตัดสินกันเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องเมจิค 1 โรงแรมมิราเคิล ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท มีประเภทประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศคือนายอนุสรณ์ สนะพันธ์ ชื่อภาพ”จิตอาสา” รับโล่เกียรติยศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท
ส่วนประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา รางวัลชนะเลิศคือนายบวรกมล สูนย์กลาง ชื่อภาพ ”ขนส่งประจำทาง” รับโล่เกียรติติยศ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมากรสมัชชาปฏิรูป พร้อมเงินรางวัล 25,000 บาท
สำหรับประเภทสื่อมวลชน ผู้รับรางวัลชนะเลิศคือนายสุรเชษฎ์ วัชรวิศิษฎ์ หัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ชื่อภาพ ”น้ำใจในวิกฤติ” รับโล่เกียรติยศนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของนายภมร มานะพรชัย ช่างภาพหนังสือพิมพ์เดลินิวส์  รับโล่เกียรติยศ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ผอ.สำนักงานปฏิรูปฯ พร้องเงินรางวัล 30,000 บาท ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 2 คือนายสุวสรรค์ ชมแก้ว ช่างภาพหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รับโล่เกียรติยศ นายมานิจ สุขสมจิตร ประธารกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท
ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า ในประเภทสื่อมวลชน ยังมีรางวัลชมเชยอีก 10 รางวัล โดยทีมช่างภาพหนังสือพิมพ์เดลินิวส์สามารถคว้ารางวัลมาได้อีก 8 รางวัล โดยนายสุรเชรษฎ์ คว้ามาได้อีก 3 รางวัลชื่อภาพ”คุณพระช่วย”,”ร่วม รื้อ รอด”และ”สู้อีกนิดน้อง” ส่วนนายภัทรพงษ์ ฉัตรภัทรศิลป์ คว้ามาได้ 3 รางวัลเช่นกัน ชื่อภาพ”ร่วมแรงร่วมใจ”,”อาสาพาข้าม”และ”ทหารของประชาชน” ขณะที่อีก 2 รางวัลเป็นของนายจามิกร ศรดำ ชื่อภาพ”รวมพลังเรียงแถว”และนายสันติ มฤธนนท์ ชื่อภาพ”ปกป้อง”โดยได้รับเงินรางวัลๆละ 5,000 บาท

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th  

ลุงเอี่ยมสำนึกบ้านเกิดเตรียมมอบเงินทำบุญทั้งหมดสมทบทุนสร้างพระพุทธรูปที่วัดมหาธาตุ


เมื่อเวลา 12.40 น.วันที่22มีค. ผู้สื่อข่าวได้ไปติดตามบรรยากาศที่บริเวณหน้าโบสถ์วัดมหาธาตุวรวิหาร จ.เพชรบุรี อีกครั้งหลังจากนายเอี่ยม คัมภิรานนท์ อายุ 62 ปี หรือ “ลุงเอี่ยม” ขอทานใจบุญคนดัง ที่มีร่างกายพิการ ที่ขอทานอยู่ที่วัดไร่ขิง และได้นำเงินที่ขอทานทำบุญให้กับวัดตลอดมาล่าสุดได้นำเงินที่ได้จากการขอทาน ทำบุญทอดกฐินเกือบ 1 ล้านบาท จนกลายเป็นข่าวดังทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เดินทางมานั่งขอทานอยู่ที่หน้าอุโบสถวัดมหาธาตุวรวิหารพบว่าลุงเอี่ยมยังอยู่ชุดเดิมตัวเก่งเสื้อแขนยาว ลายสก๊อต กางเกงขาสามส่วนนั่งอยู่บนเก้าอี้พลาสติก ที่บริเวณด้านหน้าอุโบสถพร้อมตู้ใส่เงินอยู่ข้าง ๆ ตัว โดยมีประชาชนที่เดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อวัดมหาธาตุกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเห็นลุงเอี่ยม นั่งยิ้มแย้มอยู่บริเวณหน้าโบสถ์ ต่างพากันนำเงินร่วมทำบุญกับลุงเอี่ยม พร้อมกับขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันตลอดเวลา บางคนก็ขอให้ลุงเอี่ยมเขกหัวเป็นการให้ศีล ให้พร บางคนก็ให้บุตรหลานมา กราบไหว้และขอพรให้สอบติด  ในขณะที่บางคนก็ขอเลขเด็ดงวดนี้   สร้างความประหลาดใจแก่ผู้ที่มาพบเห็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีหญิงสูงอายุ ตลอดจนเด็กเล็กแต่งตัวมอมแมมเข้ามาขอทานในบริเวณวัดอีกด้วย
ขณะเดียวกันเมื่อนายเอี่ยมเห็นผู้สื่อข่าวก็ยิ้มทักทายและโชว์ตู้รับจาคซึ่งมีเงินอยู่จำนวนหนึ่งให้ดูพร้อมกับบอกว่า เงินที่รับบริจาคทั้งหมดนี้จะสมทบทุนสร้างพระพุทธรูปที่วัดมหาธาตุฝั่งกุฏิหลวงพ่อ โดยตอนนี้รวบรวมได้จำนวนหนึ่งแล้ว เนื่องจากตนเคยอยู่วัดแห่งนี้มาก่อน และจะกลับไปที่วัดไร่ขิงในวันที่ 24 มี.ค.ที่นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าตั้งแต่ลุงเอี่ยมมาที่วัดมหาธาตุเพียงไม่กี่วันบรรยากาศก็คึกคักมากขึ้นซึ่งเดิมปกติวันธรรมดาผู้คนจะไม่มากอย่างนี้.

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th  

สวธ.แจงไม่ได้ปล่อยข้อมูลนางสงกรานต์ดุ


จากกรณีมีหลายเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลเรื่องนางสงกรานต์ประจำปี 2555 โดยอ้างว่ามีที่มาจากจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (22 มี.ค.) นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อธิบดี สวธ. เปิดเผยว่า ข้อมูลและคำทำนายที่มีการเผยแพร่ออกไปมิได้มาจากกรมแต่อย่างใด เพราะทางกรมยังไม่ได้รับข้อมูลจากสำนักพระราชวังเลย ประกาศสงกรานต์ของแต่ละปีจะเป็นสิ่งที่ทางโหรหลวงจัดทำขึ้น จากนั้นทางกรมจึงไปนำมาเผยแพร่อต่อ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมและนิทรรศการเผยแพร่เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีเก่าแก่ของไทยนี้   
นางปริศนา กล่าวต่อว่า สำหรับคำทำนายที่เกี่ยวกับนางสงกรานต์และวันสงกรานต์เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของหนังสือ “ตรุษสงกรานต์” ที่อาจารย์สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้รวบรวมและเขียนขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ตำนานสงกรานต์ การละเล่นพื้นบ้านในช่วงสงกรานต์ และความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับวันสงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องความเชื่อนี้จะมีคำทำนายถึงอิริยาบถของนางสงกรานต์ คำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์  วันเนา และวันเถลิงศก เป็นต้น ซึ่งถือเป็นคำทำนายที่เป็นความเชื่อโบราณ และมีมานานแล้ว แต่คนทั่วไปก็ยังให้ความสนใจอยู่ คล้าย ๆ กับการพยากรณ์ดวงที่มีทุกปีใหม่  
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลที่เผยออกมาระบุบว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกประกาศว่า วันมหาสงกรานต์ ประจำปี 2555 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 13 เม.ย. เวลา 19.46 น. 12 วินาที ซึ่งในปีนี้นางสงกรานต์มีนามว่า "กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาทรงขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร (นอนลืมตา) มาเหนือหลังมหิงส์ (กระบือ) เป็นพาหนะ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ปีนี้ พฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า เกณฑ์ธาราธิคุณชื่อ วาโย (ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะโรง นาคราช ให้น้ำ 3 ตัวทำนายว่า ฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิด กิมิชาติ คือ มีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแล
คำทำนาย วันศุกร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุมจะเจ็บตากันมากนักแลฯ, วันเสาร์ เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์ จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแลฯ วันอาทิตย์ เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรือง ด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแลฯ นางสงกรานต์ ไสยาสน์ลืมเนตร (นอนลืมตา) ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข.

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th  

“เดลินิวส์”สานต่อโครงการส่งต่อของขวัญส่งมอบห้องสมุด


ที่โรงเรียนบ้านทุ่งจำเริง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 มี.ค. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และมูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล จัดพิธีส่งมอบห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการ “เดลินิวส์ส่งต่อของขวัญ” โดยมี ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ และนายอดิศร กำเนิดศิริ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานในพีธี พร้อมด้วยนายปารเมศ เหตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต นสพ.เดลินิวส์ และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เดลินิวส์ทีวี น.ส.วิรณี เหตระกูล ศรีนวลนัด รองผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา นสพ.เดลินิวส์  นายมนูญ ยิ้มสมาน ผู้จัดการประจำเขต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต1 (ภาคเหนือ) จ.เชียงใหม่ นางจงกลนี กล่าวสุนทร นักบริหารงานทั่วไป ระดับ 10   การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต1 (ภาคเหนือ) จ.เชียงใหม่ นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 และแขกผู้มีเกียรติร่วมในงาน

ดร.ประภา กล่าวว่าโครงการส่งต่อของขวัญ  โดยการก่อสร้าง สนับสนุนงบประมาณ  และมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน  รวมไปถึงอุปกรณ์กีฬา ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และมูลนิธแสง – ไซ้กี เหตระกูล มีเป้าหมายเพื่อต้องการ “ติดอาวุธทางปัญญา”  ให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดาร และด้อยโอกาส  โดยเฉพาะห้องสมุด ถือเป็น “คลังแห่งปัญญา”  สถานที่สำหรับค้นคว้าข้อมูล ความรู้ที่หลากหลาย และยังเป็นการให้ความรู้ด้านอาชีพกับชาวชุมชน  เพราะเชื่อว่า หากเด็ก ๆ ได้รับการต่อยอดทางการศึกษา หรือชุมชนได้รับการต่อยอดทางอาชีพ จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน  การอยู่ดีกินดี  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

“โครงการส่งต่อของขวัญ โดยการสนับสนุนงบประมาณที่ได้รับบริจาคจากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งประชาชนทั่วไป เพื่อก่อสร้างห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โรงเรียนบ้านทุ่งจำเริง  รวมไปถึงการมอบอุปกรณ์การศึกษา  และอุปกรณ์กีฬา ให้กับโรงเรียนเครือข่ายอีก 4 โรงเรียน เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่ได้เป็นสื่อกลางในการช่วยยกระดับสังคม แม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ  แต่เชื่อว่า หากทำอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือ ทั้งจากหน่วยงานต่างๆ และประชาชนก็จะทำให้เด็กและเยาวชนรวมทั้งสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง” ดร.ประภา กล่าว

ทางด้านน.ส.วิรณี ในฐานะรองประธานโครงการส่งต่อของขวัญ กล่าวว่า โครงการ ‘เดลินิวส์ส่งต่อของขวัญ’ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ได้ทำการมอบห้องสมุดให้แก่โรงเรียนต่างๆ มาแล้วทั้งสิ้น 4 โรงเรียนใน จ.กาญจนบุรี  นครราชสีมา  อ่างทอง และสงขลา สำหรับโรงเรียนบ้านทุ่งจำเริง เป็นโรงเรียนแห่งที่ 5 ของโครงการ นอกจากห้องสมุดแล้ว ยังได้จัดเตรียมอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และเครื่องเล่นต่างๆ ให้กับน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งจำเริง รวมถึงโรงเรียนใกล้เคียงอีก 4 แห่งด้วย และในอนาคตอันใกล้นี้เตรียมส่งมอบห้องสมุดโครงการที่ 6 ที่โรงเรียน ตชด.บ้านเขาฉลาด ต.เทพนิมิต อ.เขาสมิง จ.ตราด

ขณะที่ นายอดิศรกล่าวว่า  ในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกคน ขอขอบคุณทาง นสพ.เดลินิวส์ และผู้ร่วมบริจาคในโครงการนี้  การสร้างห้องสมุดเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เมื่อทราบจากทางผู้บริหาร ของเดลินิวส์ ว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดีมาเป็นสิ่งของบริจาค เพื่อสร้างห้องสมุด ถือเป็นแนวความคิดที่ประเสริฐอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆในพื้นที่ทุรกันดารในการหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และห้องสมุดที่สร้างขึ้นจะเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานในพื้นที่ต่อไปด้วย ซึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ยังมีพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนอีกมาก หากทางเดลินิวส์จะดำเนินโครงการเพิ่มขึ้น ทาง จ.เชียงใหม่ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกเรื่องทาง

ทางด้านนายประภาส จันตาวรรณเดช ผอ.โรงเรียนบ้านทุ่งจำเริง กล่าวว่าโรงเรียนทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1-ประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 126 คน มีครูผู้สอน รวมผอ.โรงเรียน จำนวน  9 คน ห้องสมุดเดิมมีปัญหาเพราะความทรุดโทรมของตึกเก่าที่ปลวกกินจนได้รับความเสียหาย จึงเกิดแนวคิดสร้างห้องสมุดใหม่ ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือของ มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล และ “เดลินิวส์” ทำให้ห้องสมุดในฝันของเด็กๆ ประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนด้านการลงแรงมากกว่าทุนทรัพย์  ทั้งนี้ขอขอบคุณหน่วยงานเอกชนที่ส่งต่อของขวัญให้กับเด็กๆ ที่ยากไร้ในครั้งนี้ สิ่งที่ยังต้องการความช่วยเหลือในอนาคตคือเด็กส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (โปว์) เมื่อแรกเข้ามาเรียนชั้นอนุบาลยังพูดภาษาไทยไม่ได้ จึงต้องจ้างครูที่รู้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเพื่อให้เด็กกล้าเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งเงินทุนดังกล่าวยังขาดแคลน  

ส่วน ด.ญ.จุฑารัตน์  ปู่เงิน  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า ห้องสมุดเดิมคับแคบ ขาดแคลนตู้หนังสือ และหนังสือ โดยเฉพาะนิทานสำหรับเด็ก  หนังสือภาพ หลังจากได้ห้องสมุดใหม่ ทุกคนรู้สึกดีใจมาก จะช่วยกันรักษาให้ดีที่สุด เพราะถือเป็นแหล่งความรู้ให้กับนักเรียนและชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้คนที่ไปเรียนในเมืองยังสามารถกลับมาใช้ห้องสมุดเพื่อหาความรู้ได้ จึงขอขอบคุณนสพ.เดลินิวส์ และผู้มีจิตศัทธาที่ช่วยกันบริจาคทรัพย์และสิ่งของในโครงการนี้ สำหรับในอนาคตสิ่งที่อยากได้ คือ คอมพิวเตอร์ เพราะยังขาดแคลน ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่ใช้หาความรู้ได้มากขึ้น

สำหรับการส่งมอบห้องสมุดครั้งนี้มี “นานมี บุ๊ค” สนับสนุนหนังสือใส่ห้องสมุด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนไก่ย่าง 5ดาว แก่เด็กๆ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดกิจกรรมสันทนาการให้เด็กได้สนุกสนาน นายปรุง บุญสุภา  มอบชุดเครื่องนอนผ้านวมให้เด็กนักเรียนทั้ง 126 คน

ทั้งนี้โครงการ “ เดลินิวส์ส่งต่อของขวัญ”  มีจุดเริ่มต้นมาจาก ในวันครบรอบการก่อตั้งน.ส.พ.เดลินิวส์ ซึ่งตรงกับวันที่  28  มี.ค.ของทุกปี หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และคณะบุคคลต่างๆ  ได้นำกระเช้าดอกไม้และของขวัญมาร่วมแสดงความยินดีกับเป็นจำนวนมาก  ซึ่งทางเดลินิวส์รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของทุกท่านที่มีให้ แต่กระเช้าดอกไม้เหล่านั้น สามารถชื่นชมได้เพียงไม่กี่คน และคงความสวยงามเพียงไม่กี่วันดอกไม้ก็เหี่ยวเฉาไป  คณะผู้บริหารของเดลินิวส์ จึงมีความเห็นว่า  หากความปรารถนาดีและน้ำใจจากทุกท่านที่มีต่อชาวเดลินิวส์  สามารถส่งต่อไปสู่สาธารณะชนได้คงจะดี จึงเกิดแนวคิดในการเปลี่ยนรูปแบบการรับของแสดงความยินดี จากกระเช้าดอกไม้และของขวัญ  เป็นการสร้างเสริมโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนของชาติ โดยการสร้างห้องสมุดให้แก่โรงเรียนที่มีความต้องการ  ทางเดลินิวส์จึงอาสาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการส่งต่อความปรารถนาดีเหล่านั้น  จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ “เดลินิวส์ส่งต่อของขวัญ”

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th  

เพิ่มประสิทธิภาพลุ่มแม่น้ำปิง


นายประพนธ์ คำไทย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกำแพงเพชร สำนักชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน กล่าวว่า    ขณะนี้กรมชลประทานได้มีคำสั่งให้โครงการท่อทองแดง ซึ่งเป็นโครงการรับน้ำนองจากแม่น้ำปิง จัดตั้งเป็นโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาท่อทองแดง ขึ้นตรงกับสำนักชลประทานที่ 4 มีพื้นที่รับผิดชอบในฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิงในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และสุโขทัย รวมพื้นที่ประมาณ 380,000 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวมีเอกภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทั้งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน
ส่วนอีก 2 โครงการอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงเกษตรฯ จะต้องใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากพื้นที่ที่รับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง-หนองขวัญนั้น มีพื้นที่บางส่วนคาบเกี่ยวเข้าไปในเขตจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักชลประทานที่ 3 จะต้องประชุมพิจารณาร่วมกันเพื่อถ่ายโอนพื้นที่การรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและประชาชน
นายประพนธ์กล่าวต่อว่า หลังจากการแยกหน่วยงานแล้วในส่วนของโครงการชลประทานกำแพงเพชร ก็จะรับผิดชอบฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูงชันและเป็นภูเขา ไม่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำปิงได้ จำเป็นจะต้องพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่เอง ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำปิง ซึ่งปัจจุบันมีน้อยมากโดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเพียงแห่งเดียว คือ อ่างเก็บน้ำคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน  จังหวัดกำแพงเพชร มีขนาดความจุ 38.5 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
ทั้งนี้ตามแผนระยะยาวที่วางไว้จะสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาฝั่งขวาของแม่น้ำปิงจำนวนทั้งหมด 16 แห่ง เป็นอ่างเก็บ น้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 150,000 ไร่.

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th  

เกษตรอินทรีย์ส่งออกปีละ 6,000 ล้าน


นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าคณะทำงานยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ทำหน้าที่ยกร่างยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ พร้อมทั้งศึกษา วิเคราะห์ และประมวลข้อมูล ตลอดจนจัดทำแนวทาง มาตรการแผนงานและงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ฉบับใหม่ ต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติที่จะมีขึ้นในโอกาสต่อไปนั้น
ทั้งนี้จะเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการขยายผลด้านการผลิตผ่านการส่งเสริมกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค รวมทั้งต้องพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์มีความเชื่อมโยงระหว่างระบบการผลิตและการตลาด โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอื่น ๆ ทั้งจากส่วนกลาง ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และภาคเอกชน เพื่อให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ การผลิต การแปรรูปและการตลาด อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การขยายโอกาสทางการลงทุนและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558
ปัจจุบันไทยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยในปี 2556 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ขึ้นอีก 10% สินค้าส่วนใหญ่ที่มีการส่งออก ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ กุ้งกุลาดำ เนื้อโคอินทรีย์ นมออร์แกนิก ปลาสลิด และปลานิล เป็นต้น.

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th  

แม่แบบทฤษฎีใหม่ - เกษตรทั่วไทย


นายวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกรลพบุรี ให้ข้อมูลว่า พระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา คือ ที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหลักการที่สำคัญ คือ รู้จักการบริหารและจัดการดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับการบริหารเวลา บริหารเงินทุน และกำลังคน เพื่อได้บังเกิดผลผลิตเป็นอาหารและรายได้ตลอดปี และผลจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดและคำนวณ พระองค์ได้ทรงแนะนำให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 30:30:30:10 ภายหลังสัดส่วนนี้ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ยืดหยุ่นได้บ้าง 
หลักการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ ขั้นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่หนึ่ง นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด  ได้ด้วย พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น ส่วนทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตน เป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น “พออยู่พอกิน” เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ
ล่าสุดทางสำนักงาน กปร. ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับผู้ชมสารคดีเฉลิมพระเกียรติ “ประโยชน์สุขของแผ่นดิน” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานจำนวนมาก นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า ได้นำคณะที่เป็นผู้ชมสารคดีชุดพิเศษ “ประโยชน์สุขของแผ่นดิน” ไปศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 2 โดยเป็นโครงการทฤษฎีใหม่แห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราช ดำริให้ดำเนินการ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แนวพระราชดำรินี้เกษตรกรสามารถน้อมนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนได้ และจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับว่าเป็นสถานที่ที่น่าศึกษาเรียนรู้ และนำองค์ความรู้ขยายไปสู่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งผู้ใดสนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ ทั้งองค์ความรู้ที่เป็นวิชาการ และแปลงสาธิตอย่างครบวงจร ที่เมื่อเข้ามาศึกษาแล้วจะเกิดความรู้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
“กิจกรรมศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ก็เพื่อให้ผู้ชมรายการที่เกี่ยวข้องกับงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจากทางบ้านได้เข้าใจและพบเห็นสถานที่ศึกษาทดลองอย่างถ่องแท้โดยเฉพาะสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะ เพื่อแก้ปัญหาในแต่ละภูมิสังคมด้วยวิธีการที่ต่างกัน โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยให้พวกเขาได้มาสัมผัส มาเห็นความสำเร็จต่าง ๆ ที่เป็นของจริง เพื่อเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของแต่ละคนกันต่อไป” รองเลขาธิการ กปร. กล่าว.

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th