“เฉลิม” แจงกระทู้รับ 6 ข้อเสนอเยียวยาในพื้นที่ภาคใต้ ปัด "ทักษิณ" ดอดเจรจาขบวนการก่อการร้ายมาเลย์ ผุดไอเดีย ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เชิญ “มาร์ค-ส.ส.ปชป.” ร่วมหารือแก้ปัญหา
ที่รัฐสภา วันนี้ ( 5 เม.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ได้พิจารณากระทู้ถามสด เรื่องเหตุการณ์ระเบิดในจังหวัดยะลา ที่นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกรัฐมนตรีว่า ตั้งแต่ ส.ค. 2554 - ก.พ. 2555 เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เกิดขึ้น 132 ครั้งหรือเพิ่มขึ้นถึง 35 % และเหตุการณ์ระเบิดที่ จ.ยะลาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศสร้างความเสียหายและผลกระทบทางจิตใจประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในการประชุมเพื่อหาทางเยียวยาที่จ.ยะลา เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับความเสียหาย 200-300 คนในพื้นที่ ได้มีข้อเสนอคือ 1.ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น 1.5 หมื่นบาท 2. งดเก็บภาษีจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ 3. ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย 1.5 % ในพื้นที่อย่างทั่วถึง 4.ทรัพย์สินที่เสียหายให้เยียวยาทุกบาทและให้รวดเร็ว 5. ชีวิตคนบาดเจ็บขอให้ได้รับการเยียวยากับกับกลุ่ม นปช. คือรายละ 7.59 ล้านบาท และ 6. มาตรการรักษาความปลอดภัยขอให้ทำเป็นเรื่องเร่งด่วน อยากทราบว่ารัฐบาลจะรับไปดำเนินการตามที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า หน่วยงานในพื้นที่ทั้งด้านการข่าวและความมั่นคงได้ประสานงานกันต่อเนื่อง และมีการแจ้งเตือนเป้าหมายการก่อเหตุ ว่าจะเกิดพื้นที่ไหน เมื่อไหร่ แต่เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ในส่วนของพื้นที่ จ.ยะลา กอ.รมน.เคยจัดเขตพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน แต่ภาคธุรกิจประชาชนในพื้นที่ขอให้ทบทวนเพราะกระทบกับธุรกิจจึงได้มีการยกเลิกเซฟตี้โซน และทำให้เกิดช่องว่าง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเห็นควรมีแนวทางพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในพื้นที่ และเป็นการทำงานในเชิงรุกไม่ใช่แค่ตั้งรับเท่านั้น และสร้างความปลอดภัยให้เกิดในชุมชนโดยให้ประชาชนในชุมชนเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่คอยสอดส่อง และเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำการจับกุมอาวุธมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันที่ 5 เม.ย.นี้จะประชุมเพื่อหาทางควบคุมเหตุระเบิดในพื้นที่ ทั้งที่มาของระเบิด ช่องทางก่อเหตุ และพื้นที่ล่อแหลม
นายประเสริฐ ถามต่อว่า ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกเซฟตี้โซน แต่เรียกร้องให้มีการทบทวน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เสนอแผนมาให้เลือก 4 แบบ และประชาชนในพื้นที่ได้เลือกแบบที่ 4 นอกจากนี้อยากถามว่าจากที่มีข่าวในเว็บไซต์ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไปเจรจากับขบวนการผู้ก่อการที่ประเทศมาเลเซียนั้น แต่เจรจาไม่สำเร็จจนทำให้เกิดผลพวงเป็นเมื่อวันที่ 31 มี.ค. เหตุการณ์ยับเยินป่นปี้ จึงอยากถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไปเจรจาเรื่องอะไร
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ชี้แจงว่า จากข้อเสนอในพื้นที่ที่เสนอมาเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา ทั้ง 6 ข้อนั้น ก็พร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปัตตานี ยะลา หาดใหญ่ เป็นการก่อเหตุที่เป็นขบวนการ จากนี้จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการ บก.ส่วนหลังแก้ปัญหาในพื้นที่จะเชิญ ส.ส.ในพื้นที่ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ไปร่วมศึกษาแก้ปัญหา ซึ่งยอมรับว่าไม่อาย เพราะการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องร่วมมือทุกฝ่ายไม่สามารถปล่อยให้แก้ปัญหาตามลำพังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดๆได้ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์มีการวางแผน แต่ว่าคนทำกับคนระวังแตกต่างกัน คนจ้องจะก่อเหตุย่อมได้เปรียบ เหมือนมือปืนวันนี้ทำไม่สำเร็จก็ต้องมีสักวันที่เผลอ นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการอย่างที่ถูกระบุ
นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องที่ปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ไปเจรจากับขบวนการก่อเหตุนั้น มี ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ โอบกอดกับแกนนำพลูโลลงในเว็บไซต์ของพลูโล ร.ต.อ.เฉลิม น่าจะไปตรวจสอบ ไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ เวลานี้สถานการณ์ กลับตาลปัตรจากที่เจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายไล่ล่าผู้ก่อเหตุไม่สงบ กลับกลายเป็นผู้ก่อเหตุมาเป็นผู้ไล่ล่าเจ้าหน้าที่แบบกัดไม่ปล่อย จนชีวิตเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดกำลังย่ำแย่ นอกจากนี้อยากถามว่า หลังเกิดเหตุในที่ประชุมครม.จริงหรือไม่ ที่นายกฯ รู้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณไปเจรจากับขบวนการผู้ก่อการร้าย และในการประชุมครั้งนั้นจะมีมาตรการนำไปสู่การแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร
ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไปเจรจากับขบวนการผู้ก่อการร้าย ส่วนข่าวที่ลงในเว็บไซต์พลูโลนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อไม่ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้สั่งให้ตำรวจตรวจสอบย้อนหลังว่า มีรถหายกี่คัน จักรยานยนต์หายกี่คัน เพราะเหตุการณ์คาร์บอมนั้น มาจากรถที่ถูกขโมยรวมทั้งจะหาทางควบคุมแก้ไขการใช้โทรศัพท์จุดชนวนระเบิด อีกทั้งให้ผู้บังคับการตำรวจแต่ละจังหวัดไปดูว่าจะป้องกันเหตุอย่างไรไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ตัวเองเท่านั้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอใช้สิทธิพาดพิงว่า การที่จะเชิญตนจะไปร่วมประชุม บก.ส่วนหลังนั้น ตนยินดีช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่ขอความมั่นใจว่าการไปทำหน้าที่ในรูปแบบใด เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 265 266 เรื่องการแทรกแซงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นห่วงว่าไม่เช่นนั้นจะถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ อยากให้นายกฯยิ่งลักษณ์มาร่วมประชุมด้วย เพราะว่าเรื่องพี่ชายของนายกฯ ที่ไปเจรจากับขบวนการก่อการร้าย ไม่ใช่แค่มีในเว็บไซต์เท่านั้น แต่ยืนยันตรงกันหลายทางซึ่งหากไม่แก้ปัญหาเรื่องพี่ชายของนายกฯเรื่องนี้ก็จะแก้ไขได้ยาก
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การเชิญฝ่ายค้านมาทำงานตรงนี้เพื่อบ้านเมือง เป็นการที่ตนเองกล่าวเชิญในสภา ให้มาร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งไม่เป็นปัญหาในการทำหน้าที่ตนเองก็แม่นในรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญไม่เป็นการแทรกแซงเป็นการทำเพื่อชาติ ทำดี การแสดงความเห็นเป็นอดีตนายกฯ มีวิสัยทัศน์การเก็บข้อมูลในพื้ที่ส่วนหนึ่ง และเชื่อว่าสส.ประชาธิปัตย์ มีข้อมูลดีที่สุดไม่แพ้เจ้าหน้าที่ และยืนยันอีกครั้งจะไปกราบเรียนนายกฯให้ทราบ เพราะศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาชายแดนใต้ บก.ส่วนหลังนี้ คิดได้เมื่อเช้าตอนนั่งทานกาแฟที่บ้าน
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th