ที่กระทรวงสาธารณสุข วันนี้( 5 เม.ย.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเริ่มตื่นตระหนกเกรงว่าจะไม่มียาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนใช้ หลังจากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 และมีบางส่วนเริ่มหาซื้อเพื่อกักตุนว่า เรื่องนี้จะหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะหลังจากประกาศยกระดับยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนแล้ว ขณะนี้ยังมียาแก้หวัดสูตรผสมอื่นที่ใช้ทดแทนกันได้และมีประสิทธิ์ภาพในการรักษาเหมือนกัน ซึ่งเทียบเท่ากับยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน อย่างยาแก้หวัดสูตรผสมเฟนิลเอฟริน เป็นต้น ดังนั้นไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนก
“แม้จะมีประกาศยกระดับให้ยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีน แต่ถูกจำกัดเป็นยาควบคุม ซึ่งในกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ยา แพทย์ยังสามารถสั่งจ่ายเพื่อรักษาได้ เพียงแต่ต้องมีการรายงานเบิกจ่ายยา รวมถึงรายชื่อผู้ป่วย เช่นเดียวกับมอร์ฟีน” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ประชาชนบางส่วนเกิดความกลัว เพราะเข้าใจว่าการกินยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนที่ผ่านมาเป็นการกินยาบ้ายาเสพติดนั้น เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจเช่นกัน ซึ่งการจะนำยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนมาผลิตเป็นยาเสพติดนั้น ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการสกัดก่อน มีสูตรทางเคมีสกัด ไม่ใช่ว่าจะนำยาแก้หวัดมาใช้กินเป็นยาเสพติดได้เลย เรื่องนี้จึงเกิดจากความเข้าใจไม่ถูกต้องและต้องชี้แจง อีกทั้งในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และเกาหลี ยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนเหล่านี้ ล้วนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มยาสามัญทั่วไป หาซื้อได้ง่าย แต่บ้านเรามีการนำมาสกัดเพื่อเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดจึงต้องควบคุมเท่านั้น
ต่อข้อซักถามว่า หลังจากที่มีประกาศยกระดับให้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนเพื่อควบคุมการสั่งจ่ายยาแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการยกเลิกคำสั่งระงับการจ่ายยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้เลยหรือไม่ นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังคุยกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากประเด็นของการยกระดับการควบคุมการเบิกจ่ายยาแล้ว ยังต้องรอดูการตรวจสอบปัญหาการเบิกจ่ายยาแก้หวัดสูตรผสมสารซูโดอีเฟดรีนว่าขณะนี้นิ่งแล้วหรือยัง ต้องรอให้การตรวจสอบปัญหาการเบิกจ่ายยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเสร็จสิ้นลงก่อน เพราะหากให้มีการเบิกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่อาจเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ทุกอย่างน่าจะชัดเจน และสามารถยกเลิกคำสั่งระงับประกาศการเบิกจ่ายยานี้ได้ เมื่อถามถึงการรายงานสต็อกยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีน รวมถึงจำนวนที่คงอยู่ในสต็อกยาโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า เรื่องตัวเลขคงต้องไปถามจากทาง อย. แทน
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น