วันนี้ ( 5 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มีการจัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ 5 เม.ย.55 “ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน? ประเทศไทยกับระบบศาล” ซึ่งภายในงานมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงาน อาทิ นายอมร จันทรสมบูรณ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ในเวลา 10.00 น. นายธีรยุทธ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ในวันนี้ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตยได้จัดงานขึ้นมาโดยเชิญบุคคลสำคัญ มาร่วมปาฐกถาในหัวข้อที่เกี่ยวกับระบบศาล เนื่องจากเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ทุกสถาบันต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตที่รุนแรง และกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเวลานี้ด้วย ตนอยากให้ ทุกคนมองปัญหาของตนเองให้มาก เพราะขณะนี้คนไทยไม่ค่อยฟังใคร ฉะนั้นขอเรียกร้องให้ทุกคนแก้ตัวเองก่อน อย่าเพิ่งไปเรียกร้อง ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ในโปรแกรมการพัฒนาประเทศมานาน กว่า 50 ปี ผ่านระยะเวลามาจนถึงวันนี้ เริ่มเฉื่อยช้า ล้าหลัง และมีปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโปรแกรมนี้ล้าหลังจึงต้องยกเครื่องสังคายนาใหม่ ทั้งช่วงที่ผ่านมาก็มีการพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกร่างใหม่ ฉะนั้นจึงต้องมีการพูดคุยกันว่าควรจะมีการผลักดันให้ระบบศาลเดินหน้าไปในทิศทางใด และเห็นว่าควรจัดการเสวนาเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมองภาพลักษณ์ของศาลเปลี่ยนแปลงไป
จากนั้นเวลา 10.30 น. นายอมร ได้ปาฐกถาในหัวข้อ ระบบยุติธรรมกับประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ตอนหนึ่งว่า ระยะเวลานี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาบทบาทโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง โดยรัฐธรรมนูญตั้งปี 2540 – 2550 ระบบมีความสำคัญที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบทางการเมือง และที่สำคัญไม่ต่างกันคือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยในปี2540 ประเทศไทยถือว่าเป็นก้าวสำคัญ คือ มีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น มีองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีศาลปกครองเกิดขึ้นตามมาหลังมาด้วย ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านระบบศาลต้องเจอศึกหนัก ระบบเผด็จการของนักการเมือง พรรคการเมือง ในรัฐสภา ซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในโลก อีกทั้งระบบศาลยังต้องเจอกับการที่จะต้องตรวจสอบระบบสถาบันการเมืองที่ไม่เหมือนประเทศอื่น จึงเป็นเรื่องที่หนัก เพราะฉะนั้นต้องมาดูว่าเมื่อเปลี่ยนผ่านศาลควรจะทำผลงานอย่างไร เพราะผลงานจะเป็นเครื่องชี้และสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับประชาชน เพราะถ้าสร้างผลงานที่ดีก็จะได้รับการสนับสนุน แต่ปัญหาก็คือจะสร้างผลงานได้ดีหรือสร้างความศรัทธาได้พอหรือไม่ ฉะนั้นคำวินิจฉัยจะต้องอยู่ในสภาพที่ดีสร้างความน่าเชื่อถือ อย่าสับไปสับมา แต่ถ้าหากคำวินิจฉัยไม่อยู่ในสภาพที่ควรจะเป็น ก็จะส่งผลต่อบทบาทของศาล ต่อไป
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถา ในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ 5 เม.ย. ถึงเรื่องศาลกับความยุติธรรมในมิติต่างๆ ของไทย ตอนหนึ่งว่า ในสถาบันศาลรัฐธรรมนูญข้อบกพร่องประการแรกคือที่มาที่ไปของตัวตุลาการฯ เพราะไม่มีเหตุจูงใจ ไม่มีใครอยากมา เพราะระบบศาลไม่ว่าจะทำอะไรตัดสินเรื่องใดก็มักจะผิด โดนกล่าวหาตลอดว่าเหตุใดจึงวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นนั้น ตนยอมรับว่าในคณะตุลาการมีทั้งคนดีและไม่ดีรวมอยู่ โดยคุณภาพของแต่ละบุคคลนั้น อาจจะย่อหย่อนไปตามลักษณะของแต่ละคน ถึงแม้ทุกองค์กรจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกัน แต่การทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถยื่นถอดถอนตุลาการได้ ทำให้การพิจารณาคดีต้องศึกษาคดีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันการกล่าวหาว่าพิจารณา แบบ 2 มาตรฐาน
สำหรับหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีภารกิจมิได้อยู่ที่การตัดสินคดีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนด้วย ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ไว้คือ ผู้พิพากษาไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินคดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้พิพากษาถือว่ามีอีกสถานะหนึ่งคือนักกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสต้องนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย
“ตัวผมที่ตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเพื่อนยุ และส่งเสริม ด้วยความที่ทุกคนเชื่อว่าผมไม่เข้าพวกใคร และทำงานไม่มีอคติ ดังนั้นเมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่ให้ดีที่สุดพิจารณาโดยไม่มีอคติ พิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายตามพยานหลักฐาน และการเข้ามาก็ไม่ได้ต้องการความร่ำรวยจากอาชีพนี้ รับรู้เพียงว่าพอมีพอกินเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องการแสวงหาความร่ำรวย เพราะทุกอย่างอยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการทำอย่างไรให้พอมีพอกิน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำตัวให้หรูหรา และถ้าไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องเหล่านี้ก็จะอยู่ได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าแต่ละองค์กรมีทั้งดีและคนไม่ดี เช่นเดียวกันองค์กรตุลาการ แม้ไม่มีหลักฐานระบุชัดแต่มองหน้าก็รู้แล้วว่าบุคคลนี้เป็นคนไม่ดี”นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ระบบศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการล็อบบี้ใครได้ที่ระบุว่าศาลตัดสินคดีตามใบสั่ง ยืนยันว่าไม่มี ชีวิตตนที่ได้ใบสั่งก็มีแต่ใบสั่งจราจร เพราะการตัดสินวินิจฉัยคดีไม่มีใครมาสั่งได้ อย่างล่าสุดการวินิจฉัยพ.ร.บ กู้เงินของรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาไปตามหลักฐาน ไม่ได้อคติ แต่ที่ยังมีพวกที่ไม่เข้าใจเพราะว่าเราไม่ได้บอกเขาเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม ต้องสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่าเราคิดอะไร ให้ประชาชนตรวจสอบได้ คำวินิจฉัยอย่าว่าแต่ให้ประชาชนอ่านเลยแม้แต่นักกฎหมายอ่านยังงง เนื่องจากเป็นถ้อยคำของกฎหมาย ทั้งนี้ ภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมากดูแลทั้งหมดยาก โดยปัจจุบันสำนวนคดีที่ค้างมาจากปี 2553 ใกล้จะหมดแล้ว อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า ตนเองยังยึดมั่นตามแนวทางของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ พร้อมย้ำด้วยว่า ทุกวันนี้ไม่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากเงินเดือนประจำตำแหน่งที่กฎหมายเขาออกให้
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น