วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

“เฉลิม” เข้ม ป้องกันป่วนสงกรานต์



วันนี้ (4 เม.ย.)ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์หลังมีเหตุคาร์บอมในภาค 3 จังหวัดภาคใต้ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ดูแลงานด้านการข่าวก็ได้รวบรวมการข่าวเชิงลึกทั้งจาก สมช. สันติบาล ศรภ.การข่าวทหารและความมั่นคงจนตกผลึกเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เมื่อถามว่า มีรายงานด้านการข่าวให้เฝ้าระวังเรื่องใดเป็นพิเศษ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มี แต่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภาคใต้เฝ้าระวังและตรวจสอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่หายไปมีกี่คัน ใครเป็นเจ้าของ รวมไปถึงกรณีชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์เพื่อนำมาประมวลสถานการณ์
สำหรับในพื้นที่ กทม.ขณะนี้ยังเรียบร้อยดี แต่ไม่ประมาท เราประมาทไม่ได้ เมื่อถามต่อว่าการข่าวพบว่าเชื่อมโยงกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ต่างประเทศทะเลาะกัน เราต้องยืนให้มั่น ต้องเป็นกลาง ไม่ยุ่งกับใคร แต่ใครจะทำผิดกฎหมายในบ้านเราไม่ได้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 เม.ย.เป็นวันอีสเตอร์ของอิสราเอล ได้สั่งการให้ตำรวจในพื้นที่เฝ้าระวังในจุดสำคัญที่คิดว่าเป็นพื้นที่ล่อแหลม แต่สถานการณ์ในภาพรวมยังไม่มีอะไร

เมื่อถามว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุระเบิดกับกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละกลุ่ม เมื่อถามต่อว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างสองกลุ่มนี้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า วันนี้เราจับกลุ่มอิสบอเลาะห์ ชาวอิหร่าน ที่มีระเบิดไว้ในครอบครองได้แต่เราก็ต้องระวังระวังว่าจะมีเหตุอื่นๆ หรือไม่ ตนได้สั่งการให้ระมัดระวังและเน้นงานด้านตรวจคนเข้าเมือง ไม่เน้นเฉพาะสุวรรณภูมิ แต่ต้องเน้นทั้งที่ จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพราะมีสายการบินที่มีไฟท์บินตรงจากต่างประเทศเข้ามายังสนามบินเหล่านี้ แต่เน้นพิเศษที่สนามบินสุวรรณภูมิ 

เมื่อถามว่าแสดงมีรายงานจะเกิดเหตุ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้นแต่เราต้องระมัดระวัง ไม่ประมาท เราต้องทำงานเชิงรุก เมื่อถามว่านอกจาก ถนนสุขุมวิท และ ถนนข้าวสารแล้วมีพื้นที่ใดต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอีกหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า มี ซอยเดวิท ย่านสุขุมวิท และย่านรามคำแหง แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดเหตุ แต่เราไม่ประมาท กำชับให้ตำรวจต้องตื่นตัวทำงานเชิงรุก จะตั้งรับไม่ได้ เมื่อถามว่าปัญหาขณะนี้แยกออกเป็นปัญหาใต้และการก่อการร้ายหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้นเพราะปัญหาใต้เกิดมานานแล้ว บางรัฐบาลเกิดเหตุเผาโรงเรียน 34 แห่ง

เมื่อถามต่อว่าถึงกรณีฝ่ายค้านขอเปิดประชุมร่วมตามรัฐธรรมนูญ ม.179 อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาจังหวัดภาคใต้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ อยู่ที่ผู้มีอำนาจ เรื่องนี้มองได้สองแง่มุมคือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข แต่อีกมุมมองได้ว่าเป็นการกระพือสถานการณ์ การแก้ไขเราจะประชุมกันเงียบๆ จะดีกว่าหรือไม่เพราะทุกคนก็รู้และเคยเป็นรัฐบาลกันมาก่อน การที่ตนไม่ค่อยได้ลงไปพื้นที่ภาคใต้เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยต้องมาคอยต้อนรับ ต้องเอาเฮลิคอปเตอร์มารับไปฟังบรรยายสรุปแล้วก็กลับ ต้องตัดสัญญาณโทรศัพท์เป็นการสร้างภาระให้เขา ตนอยู่ที่นี่ก็รับฟังข้อมูล ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่จะแก้กันง่ายๆ พรรคประชาธิปัตย์แท้ๆ เป็นรัฐบาลมาสองปีเจ็ดเดือน ยังมีระเบิดระเบิดไม่เว้นวัน ดังนั้นจึงไม่มีใครที่จะเสนอสูตรสำเร็จได้ เมื่อถามว่าจะเชิญส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มาหารือหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไปเชิญเขาก็คงไม่มา ก็เล่นการเมืองของเขาไป ตอนเป็นรัฐบาลก็เกิดเหตุเหมือนกัน

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“มาร์ค”แนะจับตา ประชุมสภาฯ จะกลายเป็น “บิ๊กบังหน้า”


วันนี้ (4 เม.ย.)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปรองดอง ในการประชุมสภาฯ ว่า เป็นเรื่องที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกมธ.ปรองดองจะต้องตอบคำถามว่า สุดท้ายแล้วเมื่อสถาบันพระปกเกล้าเจ้าของงานวิจัยชี้แนวทางที่เหมาะสมให้ทำแล้ว ทำไมถึงไม่ยอมเดินตามแนวทางนั้น หากพล.อ.สนธิ ยืนยันว่าไม่ถอย ต้องตอบให้ได้ว่าเพราะอะไร หากยังเดินหน้าพล.อ.สนธิและรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบถึงความเสียหายที่จะตามมาทั้งหมด จะไปอ้างสถาบันพระปกเกล้าหรือคณะผู้วิจัยไม่ได้แล้ว
 “ที่พูดว่ามีการเตรียมร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว เขียนไว้ 6 มาตรา มีคนเซ็นชื่อไว้พร้อม คงเป็นเป้าหมายสุดท้ายในการเลือกเดินหน้าของรัฐบาลนี้ เพราะสถาบันพระปกเกล้าออกมายืนยันแล้วว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ไม่ใช่แนวทางที่เขาเสนอ ที่เสนอให้นิรโทษกรรมหรือล้างคดีคตส.ก็เป็นทางเลือก ที่เขาเสนอออกมาให้ถกเถียงกันเท่านั้น ไม่ใช่เสนอให้รับไปทำต่อทันที” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความชอบธรรมในการออกพ.ร.บ.ปรองดองในเวลานี้แล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถูกต้อง ถ้าสภายังเขาเดินหน้าต่อโดยไม่ฟังความเห็นของสภาสถาบันพระปกเกล้า จะแสดงให้เห็นชัดเจนคือ กระบวนการที่อ้างเรื่องความปรองดองทั้งหมดในนามของรัฐบาล และกรรมาธิการนั้น ก็เป็นเรื่องการบังหน้า เป็น “บิ๊กบังหน้า” แปลว่าทั้งหมดที่รัฐบาล หรือผู้เกี่ยวข้องกำลังจะผลักดันบางสิ่งบางอย่างซึ่งเป็นความต้องการของตนเอง แล้วพยายามเอาความปรองดอง หรือเรื่องของงานวิจัยนั้นมาบังหน้า ซึ่งก็สังคมก็จะเข้าใจว่ารัฐบาลทำอะไรต่อจากนี้ไป ไม่ได้มีฐานทางวิชาการ หรืองานวิจัยรองรับ แต่เป็นความต้องการของพรรคเพื่อไทย และสภา เท่านั้นเอง

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“อภิสิทธิ์” เตือนรมว.กห.หยุดพูด


วันนี้ (4เม.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ว่า เชื่อว่ารัฐบาลรู้แล้วว่าสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร จึงอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรัฐบาลทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจากความคิดง่ายๆ ว่าทำแล้วจะแก้ปัญหาได้เร็ว แล้วตัวเองก็จะได้ประโยชน์ทางการเมือง ส่วนที่พล.อ.อ.สุกัมพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เห็นด้วยกับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ไม่ควรพูดให้เกิดความสับสน เพราะไม่ได้เกิดความเสียหายเท่านั้น แต่กระทบกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ เพราะถ้าเขาฟังแล้วทำให้รู้สึกว่ามีการส่งสัญญาณก็มีปฏิกริยาได้ แต่คนที่รับเคราะห์ก็คือคนที่อยู่ในพื้นที่ ตนคิดว่า สิ่งใดที่ไม่ควรพูดก็ไม่ต้องพูด โดยเฉพาะการพูดถึงกลุ่มต่าง ๆ ควรให้มีความชัดเจนในข้อเท็จจริงก่อน และควรยืนยันในนโยบายหลัก ๆ เพื่อให้เกิดความสงบ จะดีที่สุด
เมื่อถามว่ามีอดีตนักการเมืองใหญ่อยู่เบื้องหลังในการเสนอเงินหลายร้อยล้านบาทให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยุติการเคลื่อนไหว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเพราะยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ใครก็ตามที่คิดว่าวิธีการเช่นนั้นจะแก้ปัญหาได้แสดงว่าไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง
“ผมเห็นว่าถ้ายึดตามนโยบายที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)เสนอให้ที่ประชุมสภาฯ รับทราบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่อไปได้ อย่าไปเที่ยวเชื่อคนที่อ้างว่าทำอะไรได้ ทำอะไรก็เป็นเรื่องพิเศษ และวิเศษ แล้วปัญหาจะหมดไป เพราะมีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญควรจะมอบหมายงานให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มในบางพื้นที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะเป็นการถอยหลังมากกว่า ที่ผ่านมายังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าการเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ใดแล้วจะมีปัญหา ทั้งนี้รัฐบาลควรจะเร่งฟื้นฟูพร้อมสร้างความเชื่อมั่น มีความชัดเจนเรื่องนโยบายและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลจัดระบบการแก้ไขปัญหาดังกล่าวใหม่ โดยเฉพาะระบบการสื่อสาร เพราะการพูดถึงสถานการณ์ในภาคใต้ ทั้งจากฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ทำให้เกิดความสับสนและไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหา ส่วนที่พล.อ.อ.สุกัมพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เห็นด้วยกับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ไม่ควรพูดให้เกิดความสับสน เพราะไม่ได้เกิดความเสียหายเท่านั้น แต่กระทบกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ เพราะถ้าเขาฟังแล้วทำให้รู้สึกว่ามีการส่งสัญญาณก็มีปฏิกริยาได้ แต่คนที่รับเคราะห์ก็คือคนที่อยู่ในพื้นที่

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“นพดล” โวย ส.ส.ปชป.ให้ข้อมูลเท็จ โต้“ทักษิณ” ไม่เคยเจรจาหัวหน้าโจร




วันนี้ ( 4 เม.ย.) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณีนายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พ.ต.ท. ทักษิณ อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนร้ายก่อเหตุระเบิดในภาคใต้ เนื่องจากไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไปเจรจากับหัวหน้าโจร ว่า อยากจะขอให้พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อย่าไปเชื่อตามกระแสข่าว ขอให้เชื่อในความจริง อย่าเชื่อในสิ่งที่เป็นเท็จ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับนโยบายต่างๆในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่ได้ไปเจรจากับหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการต่าง ๆ ตามที่มีการนำเสนอข่าว และการก่อเหตุระเบิดไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ  เรารู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่พรรคประชาธิปัตย์ มักจะโยนความผิดทุกอย่างในโลกนี้ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เกิดขึ้นมานาน ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือ นายอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรเอาปัญหาความรุนแรงภาคใต้ มาเป็นประเด็นการเมือง และโยนบาปกันไปมา ฝ่ายค้านเองก็สามารถทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ และร่วมมือกับรัฐบาลได้ มั่นใจว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ มีข้อมูลหรือข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์นายกรัฐมนตรี ก็คงมีความยินดีที่จะรับฟังและยอมรับข้อเสนอนั้น

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“ปู” พอใจผลสำเร็จประชุมสุอดยอดอาเซียนครั้งที่ 20


ที่ประเทศกัมพูชา วันนี้ ( 4 เม.ย.)  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ว่า ผลการประชุมครั้งนี้เป็นไปได้อย่างดี โดยผู้นำอาเซียนทุกประเทศยอมรับข้อเสนอของไทย ที่หยิบยกเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระภูมิภาคอาเซียน เพราะการแก้ไขปัญหาให้ครบถ้วนต้องอาศัยภูมิภาค โดยรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยอาเซียนปลอดยาเสพติด ปี 2558 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ที่ไทยได้หยิบยกขึ้นมาหารือ เพราะปัญหาดังกล่าวบางครั้งมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งประเทศต่างๆ พร้อมให้ความร่วมมือประสานงานกับไทย ส่วนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยพิบัติจากน้ำจะหารือกันต่อในการประชุมสุดยอดลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการประชุมในเดือนเม.ย.นี้
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า และจากการติดตามความคืบหน้าการทำงานของทั้ง 3 เสาหลักของอาเซียนพบว่ามีความคืบหน้า โดยเฉพาะเสาการเมือง ที่ประเทศพม่าเพิ่งผ่านการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย หลายประเทศให้การตอบรับและพอใจกับเรื่องดังกล่าว  ดังนั้นกลุ่มประเทศอาเซียน มีความเห็นว่าควรมีแถลงการณ์ที่ชัดเจน ขอให้นานาประเทศเลิกคว่ำบาตรพม่า ขณะที่ข้อเสนอของภาคประชาสังคมและเยาวชน ผู้นำอาเซียนรับข้อเสนอที่ได้แลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำมาพัฒนาภูมิภาคอาเซียน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ โดยเครื่องบินกองทัพอากาศ เที่ยวบินพิเศษที่ RTAF 222 และถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 เวลาประมาณ 17.10 น.  

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“ปู” เผยผู้นำมาเลเซียพร้อมให้ความร่วมมือแก้ปัญหาภาคใต้



                   ที่ประเทศกัมพูชา วันนี้ ( 4 เม.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ว่า  ตนได้ใช้โอกาสการประชุมครั้งนี้อธิบายถึงสถานการณ์ในจังหวัดภาคใต้ที่เกิดขึ้นในจ.ยะลา และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้กับผู้นำอาเซียน ซึ่งผู้นำมาเลเซียมีความเข้าใจและขอบคุณประเทศไทยที่ดูแลคนของมาเลเซียที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งมาเลเซียพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการตรวจสอบการย้ายถิ่นฐานของประชาชน การเดินทางเข้า-ออก ซึ่งในระยะยาวจะต้องหารือกันเพื่อมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างครบวงจรต่อไป

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“ป๋าเปรม” ขอคนไทยยึดหลักคุณธรรมแทนคุณแผ่นดิน




“ป๋าเปรม” ร่วมงานครบรอบ 12 ปี ผู้ตรวจการฯ เรียกร้องคนไทยยึดหลักคุณธรรม-จริยธรรม ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน จี้ผู้ใช้อำนาจรัฐมีมโนธรรม
วันนี้( 3 เม.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้จัดงานสัมมนาวิชาการและบรรยายพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เดินทางมาร่วมงานพร้อมกับมอบรางวัลเกียรติยศ “คนดีแห่งแผ่นดิน” เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่นายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานหอการค้าไทย คนที่ 21 และนายชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี)  ซึ่งบุคคลทั้งสองมีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับจากสาธารณชน พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการเพื่อสร้างความโปร่งใสและต่อต้านคอร์รัปชันมายาวนานและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

ทั้งนี้ พล.อ.เปรม ได้กล่าวบรรยายพิเศษมีใจความตอนหนึ่งว่า ตนมีความคิดเห็นว่าหากมีการพูดถึงเรื่องจริยธรรมแล้ว ต้องพูดถึงเรื่องคุณธรรมด้วย เพราะถ้าพูดสองคำไปพร้อมๆกันจะทำให้มีความสมบูรณ์ของความหมาย ที่ผ่านมาตนพูดเสมอว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งตนเป็นคนคิดเองและมาพูดในที่สาธารณะมา 23 ปี อีกทั้งวันนี้ก็ยังชอบพูดประโยชน์นี้อยู่มากๆ แต่คิดว่าไม่ค่อยมีคนชอบฟังมากเท่าไหร่ คำว่าการเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั้นอธิบายได้สองวิธี คือแบบสั้นหมายความว่าคิดทำความดี เพื่อให้แผ่นดินมีความสงบ คนในแผ่นดินมีความสุข ช่วยกันสร้างคนดีในแผ่นดิน อีกทั้งไม่ทำให้แผ่นดินมีปัญหา ไม่ทำให้คนในแผ่นดินเดือดร้อน ซึ่งเฉพาะคนดีเท่านั้นถึงจะทำได้ คนไม่ดีทำไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทำยากมาก แต่ก็ทำได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยากกว่านั้นคือการรักษาความดีให้คงอยู่กับผู้ทำตลอดไปจนกระทั่งตาย มีหลายคนในประเทศของเราเคยทำความดีให้ปรากฏจนกระทั่งได้รับการยกย่องสรรเสริญได้รับความศรัทธา แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถรักษาความดีที่ตนทำไว้ได้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

พล.อ.เปรม กล่าวต่อว่า สำหรับการอธิบายแบบยาวนั้น 1.ต้องมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ 2.ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ จงรักภักดี 3.ผู้บังคับบัญชาต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา มีความเมตตา เป็นคนไทยต้องมีความเป็นไทย มีความเป็นธรรม เป็นนายคนต้องมีแต่ให้ จะรับได้อย่างเดียวคือรับความทุกข์ ความลำบากยากเข็ญของคนอื่นนำมาพิจารณาแก้ไข เหมือนอย่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 คนกำลังดำเนินการอยู่ 4. ปัญหาชาติบ้านเมืองที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดคือความยากจน เพราะฉะนั้นเราต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน หาทางขจัดความยากจนในแผ่นดินของเรา 5.เราต้องยึดถือและปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 6.ภาครัฐ เอกชน หรือภาคไหนๆ ต้องทำงานให้คุ้มค่า คุ้มเวลา คุ้มความเป็นคน ที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายว่าเกิดมาเป็นคนต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตนใช้วิธีทำงานต้องยึดถือ 3 อย่างคือ สะดวก เรียบง่าย ประหยัด ถ้าทุกคนนำไปใช้ก็คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ 7.ต้องดำรงวัฒนธรรมไทย เช่นการละเล่นท้องถิ่นภาคต่างๆ  การพูดภาษาท้องถิ่น ไม่ควรจะลอกเรียนฝรั่งจนไม่เหลือความเป็นไทยก็น่าเสียดายความเป็นไทย 8 .ผู้ใหญ่ต้องถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะดูแลยุวชนและเยาวชน เพราะความสำคัญของเด็กเป็นความสำคัญของชาติบ้านเมือง ต้องถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราต้องรับผิดชอบดูแลให้เด็กเติบโตมาเป็นคนดีของชาติบ้านเมืองให้ได้ 9. ศ.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภาษาไทย ได้ให้คำชี้แจงกับตนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งหมายถึงความดีที่มีอยู่ในใจของตน ทำให้ผู้มีคุณธรรมประพฤติดี ปฏิบัติดี คุณธรรมเป็นธรรมะที่ควบคุมจิตใจของคนให้คิดให้พูดในสิ่งที่เป็นคุณ โดยเฉพาะเป็นผลดีต่อผู้อื่น คุณธรรมเป็นความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นเอง หรือเกิดจากการอบรมสั่งสอน ที่เมื่อยึดมั่นเป็นคุณธรรมฝั่งในจิตใจ คนดีมีคุณธรรมจะต้องซื่อสัตย์ สุจริต คิดดี ทำดี พูดดี คิดตรง ทำตรง พูดตรง มีเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คดโกงแม้ว่าไม่มีผู้รู้เห็น จะไม่เอารัดเอาเปรียบ ข่มแหงผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ทุจริต ส่วนเรื่องจริยธรรม หมายถึงความประพฤติทางกายและวาจาที่แสดงออกถึงธรรมะที่อยู่ในใจ จริยธรรมหมายถึงการปฏิบัติในทางดีควบคู่กับคำว่าศีลธรรมที่มีการชี้แจงชัดเจน จริยธรรมบังคับได้แต่กายวาจา บังคับใจไม่ได้ ส่วนคุณธรรมบังคับใจ ความดีที่มีอยู่ในใจ คุณธรรมคือเรื่องของใจ จริยธรรมเรื่องของกายและวาจา

“ผมได้อ่านประมวลจริยธรรม เช่นของส.ส. ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องดีมากและเป็นประโยชน์มาก หากรวมคุณธรรมเข้าไปด้วย ผมสังเกตว่าในประมวลจริยธรรมหากไม่ปฏิบัติก็ไม่มีบทลงโทษ เพราะฉะนั้นคิดว่าจะตัดสินได้อย่างไร ซึ่งก็ต้องใช้มโนธรรมและกติกาในใจของตนเองเป็นมาตรการในการตัดสิน มโนธรรมคือการรู้สึกผิดชอบชั่วดี แยกความดีจากความชั่วได้ อย่างไรก็ตามผมขอพูดนอกเรื่องว่า ผมเชื่อมั่นว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิยึดถือเป็นของตนเองได้ เชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง จะปกป้องคนดีและสาปแช่งคนไม่ดี สาปแช่งคนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศ ผมเชื่ออย่างนั้น ผู้มีเกียรติจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมของแต่ละคน” พล.อ.เปรม กล่าว

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

สถาบันพระปกเกล้าถอนรายงานวิจัย




สถาบันพระปกเกล้าออกแถลงการณ์ รายงานการวิจัยสร้างความปรองดองแห่งชาติ หวั่นเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยก พร้อมขอถอนรายงานวิจัยฯ ดังกล่าวจากการพิจารณาของสภาฯกลับคืนมา
วันนี้(3 เม.ย.) ได้มีแถลงการณ์สถาบันพระปกเกล้า เรื่อง รายงานการวิจัย “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่คณะผู้วิจัยได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทน  ราษฎรไปตามที่คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ขอให้ศึกษาแล้วนั้น สถาบันพระปกเกล้าขอแถลงข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทางออกเพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศความปรองดองในชาติ ดังนี้ ๑. หน้าที่ทำการวิจัยที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรขอ โดยใช้เงินสถาบัน สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า         พ.ศ.๒๕๔๑ ภายใต้กำกับดูแลของประธานรัฐสภา และมีหน้าที่ตามมาตรา ๖(๘) ซึ่งบัญญัติว่า ให้สถาบัน “ส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา”ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ให้สถาบันทำการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยตั้งคำถามว่า “อะไรคือปัจจัย หรือกระบวนการที่ทำให้การปรองดองแห่งชาติประสบความสำเร็จ” สถาบันจึงนำเรื่องเสนอสภาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อพิจารณาคำขอดังกล่าว สภาสถาบันได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของสถาบันเอง การดำเนินการวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการทำหน้าที่ส่งเสริมวิชาการรัฐสภาตามหน้าที่ของสถาบันในกฎหมาย โดยไม่มีการรับจ้างดังที่วิพากษ์วิจารณ์กันแต่อย่างใดดังนั้น ลิขสิทธิ์ของรายงานดังกล่าวจึงเป็นของสถาบันตามมาตรา ๑๔ ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
๒. การรับทำงานวิจัยได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้วจากสภาสถาบันพระปกเกล้า เนื่องจากการขอให้ทำงานวิจัยดังกล่าว สถาบันไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และผลการวิจัย มีผลกระทบทางการเมือง สถาบันจึงนำคำขอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาสถาบันในการประชุมสภาสถาบัน ครั้งที่ ๑๑ /๒๕๕๔ เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ สภาสถาบัน     ซึ่งประกอบด้วยประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบัน ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธาน        กรรมการโดยตำแหน่ง คือ ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ๒ คน ประธานคณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก ๑๑ คน โดยมีเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นกรรมการและเลขานุการ ได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว มีมติให้รับทำการศึกษาโดยมีข้อสังเกตหลายประการ อาทิ ให้ขยายเวลาจาก ๓๐ วัน เป็น ๑๒๐ วัน ให้ดำเนินการโดยอิสระ และมีเสรีภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง มิให้ยกร่างกฎหมายเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งสถาบันก็ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตดังกล่าวทุกประการ
๓. รายงานการวิจัยเป็นเสรีภาพทางวิชาการ และความรับผิดชอบของคณะผู้วิจัย เมื่อรับทำการศึกษาแล้ว สถาบันก็แต่งตั้งคณะผู้วิจัยขึ้นตามกระบวนการปกติที่เคยปฏิบัติมาประกอบด้วยผู้วิจัย ๒๐ คน โดยมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย เป็นหัวหน้าคณะได้ใช้เวลาศึกษา ๑๒๐ วัน ตามกรอบเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอ เมื่อมีการทักท้วงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันก็ได้ลงไปตรวจสอบทั้งระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) และเนื้อหาสารัตถะ (content) ของงานวิจัย และข้อเสนอก็พบว่า กระบวนการดำเนินงานดังกล่าวมีความถูกต้องตามหลักวิชาการควรแก่กรณี แม้ว่าเลขาธิการจะขอให้คณะผู้วิจัยนำข้อท้วงติงของทุกฝ่ายมาพิจารณาประกอบแล้ว คณะผู้วิจัยก็ได้ปรับแก้บางส่วนแต่คงยืนยันผลการวิจัย โดยเฉพาะข้อที่ว่าปัจจุบันบรรยากาศความปรองดองยังไม่เกิด เพราะทุกฝ่ายยังมีพฤติกรรมและท่าทีเหมือนเดิม คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการสร้างบรรยากาศความปรองดองทั้งระดับบน คือในฝ่ายการเมือง และระดับล่าง คือประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการจัดพูดคุยหาทางออกร่วมกัน (dialogue) จนมีฉันทามติในระดับเหมาะสม โดยนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิไปเป็นประเด็นในการพูดคุยหาทางออกร่วมกันคณะผู้วิจัยยืนยันว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ใช่ข้อสรุปที่ให้นำไปปฏิบัติทันทีแต่อย่างใด  ด้วยเหตุนี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม  คณะผู้วิจัยจึงได้ทำหนังสือแถลงจุดยืนต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕ และได้เตือนไว้ในหนังสือดังกล่าวว่าการรวบรัดใช้เสียงข้างมาก โดยไม่ทำตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัย จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงรอบใหม่ได้ การยืนยันผลการวิจัยของคณะผู้วิจัยดังกล่าวจึงเป็น ความอิสระและเสรีภาพทางวิชาการซึ่งมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ ที่สถาบันและผู้ใดก็มิอาจก้าวล่วงได้
๔. สถาบันไม่จำต้องเห็นพ้องด้วยกับงานวิจัย และในฐานะผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวิจัย สถาบันทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ในการให้ใช้ หรือของานวิจัยกลับคืนได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ความเห็นและข้อเสนอในรายงานการวิจัย หรืองานวิชาการอื่น ซึ่งสถาบันให้จัดทำทุกเรื่องตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันมาจนถึงการวิจัยเรื่องนี้ ย่อมเป็นความเห็นของผู้วิจัยเอง สถาบันไม่จำต้องเห็นพ้องด้วย แต่เมื่อลิขสิทธิ์เป็นของสถาบันตามมาตรา ๑๔ ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ สถาบันก็ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการขอรายงานการวิจัยดังกล่าวกลับคืน และห้ามทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะชนได้ตามมาตรา ๒๗ โดยเฉพาะเมื่อมีการเลือกนำรายงานบางส่วนไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง และอาจจะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้น หรือมีการรวบรัดนำประเด็นซึ่งผู้วิจัยเสนอให้นำไปพูดคุยแสวงหาทางออกร่วมกันไปปฏิบัติทันที โดยไม่ได้นำไปพูดคุยให้กว้างขวางทั้งประเทศ
๕. ทางออกเพื่อความปรองดอง แห่งชาติอย่างแท้จริงซึ่งสภาผู้แทนราษฎร พึงมีมติในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่อันจะนำไปสู่ความรุนแรง และเพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ สถาบันจึงเสนอให้ (๑) คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมากควรมีมติรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งอ้างอิงผลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าไว้ชั้นหนึ่งก่อน และขยายอายุคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ออกไปจนสิ้นสมัยประชุมสามัญสมัยหน้าเป็นอย่างน้อย และให้นำรายงานดังกล่าวไปจัดพูดคุยหาทางออกร่วมกันทั้งระดับพรรคการเมือง และในระดับประชาชนทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง โดยไม่เร่งรีบรวบรัดเลือกนำข้อเสนอที่ตน หรือพรรคของตนได้ประโยชน์ ไปปฏิบัติ ทั้งที่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นที่นักวิจัยเสนอให้นำไปพูดคุยหาทางออกจนได้ข้อยุติร่วมกันเท่านั้น (๒) ขอร้องให้พรรคฝ่ายค้าน และคนไทยทุกกลุ่มที่ต้องการเห็นบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า ด้วยความปรองดอง โดยมีภราดรภาพต่อกัน ให้ความร่วมมือในการพูดคุยหาทางออกร่วมกันทำนอง สุนทรียสนทนา (appreciative dialogue) หรือการเสวนาที่สร้างสรรค์ (Constructive dialogue) เพื่อยุติข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ลง (๓) ขอร้องให้สื่อมวลชนรายงานข่าวให้ครบถ้วนเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริง (๔) ขอร้องให้ประชาชนอย่าเพิ่งเชื่อคำพูดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนกว่าจะได้อ่านรายงานการวิจัยฉบับย่อ และรายงานการวิจัยฉบับเต็มใน www.kpi.ac.th แล้ว จึงค่อยตัดสินตามหลักกาลามสูตร
สถาบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาอย่างแท้จริง หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติตามข้อเสนอในข้อ ๑ สถาบันก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในการเปิดเวทีพูดคุยหาทางออกทั่วประเทศ โดยเฉพาะผ่านศูนย์การเมืองภาคพลเมืองของสถาบันซึ่งมี ๔๘ จังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบกับรายงาน และแจ้งคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังข้อเสนอเดิมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อันจะนำไปสู่ความสับสนของประชาชน และนำไปสู่ “สงครามความปรองดอง” อันเป็นการสถาปนา “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ขึ้น ทั้งยังจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง และความรุนแรงนั้น สถาบันก็มีความเสียใจที่จะต้องขอรายงานการวิจัยดังกล่าวกลับคืนมา และหากผู้ใดจะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณะชน จะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสถาบันก่อน
สถาบันเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสงบ และปรองดองในบ้านเมืองจึงขอเรียกร้องให้ผู้แทนปวงชนทุกฝ่าย ตอบสนองความต้องการของปวงชน โดยใช้วิจารณญานที่รอบคอบ ปราศจากมานะทิฐิ และประโยชน์ส่วนตน หรือส่วนพรรคอย่างแท้จริง แถลงการณ์โดยสถาบันพระปกเกล้า ๓ เมษายน ๒๕๕๕
นอกจากนี้ยังได้มีข้อสรุปข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ ดังนี้ การวิจัยนี้มุ่งตอบคำถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรว่า “อะไรคือรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีปัจจัยหรือกระบวนการใดที่ทำให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ?” ความแตกแยกทางความคิดอย่างกว้างขวางในสังคมไทยที่ยืดเยื้อยาวนานที่แต่ละฝ่ายยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม เช่น มีการเปิดหมู่บ้านมวลชน มีการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำละเมิดหรือดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตลอดจนการข่มขู่ว่าจะแสดงพลังเพื่อกดดันให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายตนต้องการ ฯลฯ นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ความเห็นผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังพบอีกว่าแต่ละฝ่ายยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืนเดิมของตนเอง สะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศแห่งความปรองดองยังไม่เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ต้องริเริ่มดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดอง

ในระยะเฉพาะหน้าก็คือรัฐบาล ฝ่ายค้าน และทุกฝ่ายควรช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองโดยการยุติการกระทำที่ถือเป็นการทำลายบรรยากาศแห่งการปรองดองทั้งหมด และไม่รวบรัดใช้เสียงข้างมากเพื่อแสวงหาทางออก แต่จะต้องมีการร่วมกันสร้างเวทีทั่วประเทศเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงกว้าง ต่อข้อเสนอ ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆ ในการสร้างความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น และหาทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละฝ่ายสามารถก้าวออกจากจุดยืนที่แตกต่างกันมาสู่จุดร่วมที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ดังนั้น กระบวนการพูดคุย (dialogue) หาทางออกจึงเป็นหัวใจของการปรองดอง 

ท่ามกลางสภาวะความขัดแย้งในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีความคิดเห็นของฝ่ายใดที่ถูกหรือผิดไปเสียทั้งหมด ข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องซึ่งยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่นั้น จึงมีลักษณะเป็นทางเลือกที่ยังมิใช่คำตอบสุดท้าย และขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดองบนพื้นฐานของความจริงจังและจริงใจด้วยกระบวนการพูดคุย (Dialogue) หาทางออก ใน ๒ ระดับ คือ ๑) ระดับตัวแทนทางการเมืองและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และ ๒) ระดับประชาชนในพื้นที่ในลักษณะของ “เวทีประเทศไทย” ซึ่งจะทำให้สังคมได้ร่วมกันแสวงหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน และออกแบบภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทย ตลอดจนกติกาทางการเมืองที่ยอมรับได้ร่วมกันได้ และไม่ควรหักหาญดำเนินการใดไปก่อนจะได้รับความเห็นร่วมกันในสังคม
ทั้งนี้ เนื้อหาสาระของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปรองดองนั้น มีอย่างน้อย ๖ ประเด็น โดยแบ่งเป็นระยะสั้น ๔ ประเด็นเพื่อทำให้ความแตกแยกและบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และระยะยาว ๒ ประเด็นเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างของมุมมองต่อประชาธิปไตย และเป็นการวางรากฐานของประเทศสู่อนาคต   

ในระยะสั้น มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้(๑) การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดำเนิน การค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายในหกเดือน และควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อให้สังคมเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตและป้องกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต (๒) การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย ๒ ทางเลือก ทางเลือกที่หนึ่ง – ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาทิ การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต ลักษณะการนิรโทษกรรมเช่นนี้ มีปรากฏในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง เช่น เกาหลีใต้ โมร็อกโก ซึ่งเน้นไปที่ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมือง
 
ข้อดี
๑)  ไม่เป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ซึ่งการยกเลิกความผิดไปทั้งหมดจะเป็นการลด “เงื่อนไข”ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงของทุกฝ่ายได้
๒)  ตอบสนองความต้องการของสังคมในเรื่องความสงบสุข และเดินหน้าต่อไปได้ในภาพรวม
ข้อสังเกต
๑) ลำพังแต่การนิรโทษกรรมนั้น มีผลในด้านการยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายเท่านั้น แต่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทางอื่นนั้นก็ยังมีอยู่ จึงควรดำเนินการร่วมกับกระบวนการอื่น ๆ ด้วยเช่นการเยียวยาความเสียหาย เป็นต้น ซึ่งการดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับการนิรโทษกรรมนี้ มีในหลายประเทศ เช่น ในชิลีมีการจ่ายค่าชดเชยและมีมาตรการเยียวยาเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้เสียหายหรือเสียชีวิต หรือในมอร็อกโก ที่มีการตั้งคณะกรรมการรับฟังความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เป็นต้น
๒) ผู้รับผลกระทบโดยตรงอาจยังไม่พอใจและต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดอยู่ รวมทั้งการขอโทษจากคู่กรณี เพราะการนิรโทษกรรมจะเป็นการ “ลบ”ทางที่จะผู้ได้รับผลกระทบจะเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ในด้านหนึ่ง เป็นการนิรโทษกรรมเช่นนี้เป็นการปลดข้อจำกัดที่สังคมจะเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ต้องพะวงกับความผิดของผู้เกี่ยวข้อง แต่ในด้านหนึ่ง ก็เป็นการ “ทิ้ง” ผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือผู้ถูกกระทำในบางกรณี เพราะเขาเหล่านั้นจะไม่อาจเรียกร้องการเอาโทษต่อผู้กระทำความผิดได้อีกแล้ว
๓) การนิรโทษกรรมโดยเนื้อแท้คือการ “ไม่ต้องรับผิด ในสิ่งที่ผิด” หากเลือกใช้กระบวนการนี้ จะไม่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาด และอาจก่อให้เกิดความ “เคยชิน” ต่อการไม่ต้องรับโทษ ดังนั้น หากไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์และทำความจริงให้ปรากฏ ก็อาจเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันขึ้นได้อีกเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศ จึงต้องมีกระบวนการค้นหาความจริง กระบวนการสร้างความรู้สึกที่จะให้อภัยหรือสำนึกผิดควบคู่ไปด้วย เช่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร รวันดา

ทางเลือกที่สอง – ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองเฉพาะคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ เท่านั้น โดยคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต จะไม่ได้รับการยกเว้น
 
ทางเลือกนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับ “เหตุจูงใจทางการเมือง”ที่เป็นเจตนาสำคัญในการก่อให้เกิดพฤติกรรมและสถานการณ์ความขัดแย้งจนนำมาสู่ความสูญเสีย ด้วยเหตุนี้ การนิรโทษกรรมในทางเลือกนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่ต้องถูกดำเนินคดีในส่วนของการกระทำที่ “มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองคือ ความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  ส่วนความผิดทางอาญาอื่นแม้มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่โดยลักษณะของการกระทำ ยังอาจพอแยกได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาตามปกติ เช่นการทำลายทรัพย์สิน การลักทรัพย์ ย่อมยังต้องอยู่ในกระบวนพิจารณาต่อไป
 
ข้อดี
๑) เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาโดยผู้กระทำผิดมีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าที่สำคัญมาจากสภาพสังคมไทยอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (Transition) การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มีเพียงมาตรการการฟ้องคดีอาญาในเชิงลงโทษมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่เหมาะสมกับสภาพของปัญหา  การแยกส่วนของมูลเหตุจูงใจทางการเมืองออกจากคดีอาญาปกติที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ย่อมเป็นการรักษาคุณธรรมทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้ปะปนกับความรับผิดที่มีมูลเหตุทางการเมือง ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับที่ปรากฏในการแก้ไขปัญหาของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและผู้ถูกคุมขังที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกลุ่มก่อการร้ายโดยมีคำสั่งปล่อยโดยประธานาธิบดี แต่ไม่รวมถึงคดีที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป
๒) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นเจตนาพิเศษที่ควรได้รับการเคารพตามแนวทางเสรีประชาธิปไตย เป็นการตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำผิดที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมออกไป
๓) สิทธิของประชาชนที่มาชุมนุมโดยสงบได้รับการคุ้มครอง
 
ข้อสังเกต
๑) เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศความปรองดอง เพราะเป็นเพียงการลด “ปริมาณ”ของความขัดแย้งลง โดยยังคงมีผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำทั้งของตนเองและผู้อื่นอยู่
๒) การกำหนดแยกฐานความผิดที่ยึดโยงกับเรื่องการเมืองนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะต้องมีการพิสูจน์เจตนาพิเศษว่าเป็นการกระทำเพราะการเมือง ผลที่ตามมาของการแยกเจตนาทางการเมืองออกจากเจตนากระทำผิดอาญาปกติที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้คนที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมยังต้องถูกลงโทษอยู่บ้าง ทั้งนี้ ทั้งสองทางเลือก ให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้กรณีดังกล่าวดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมและนิติประเพณี 
(๓) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการ ลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย ๓ ทางเลือก

ทางเลือกที่หนึ่ง – ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
ข้อดี
๑) กระบวนการยุติธรรมปกติเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคมที่ขัดแย้งรุนแรง
๒) สังคมไม่รู้สึกว่าเป็นความยุติธรรมของผู้ชนะเท่านั้น เพราะคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทั้งยกฟ้องและพิพากษาว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา
๓) สร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการ
๔) สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วใน กระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ดำเนินต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีการยกเลิก เพิกถอนใดๆ
ข้อสังเกต
การยึดหลักการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (Legally) (ประกาศคมช.มีผลบังคับใช้ได้เช่นกฎหมาย) โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม (Legitimacy) จะมีผลต่อความเป็นธรรมของสังคม  
ทางเลือกที่สอง – ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ
ข้อดี
๑)  คืนความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยกระบวนการยุติธรรมปกติ  ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม (Rule of Law)
๒)  ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบกลับคืนมา
๓)  ผู้ถูกตัดสินตามคำพิพากษา และมวลชนผู้สนับสนุนรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม (คืนมา)
๔)  เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้พิสูจน์ตัวเองด้วยกระบวนการยุติธรรมปกติ
๕)  สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย
ข้อสังเกต
๑)  บางคดีผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีสองครั้ง
๒)  พยานหลักฐานในคดีอาจไม่ครบถ้วน ซึ่งมีผลต่อคำพิพากษาของศาล
ทางเลือกที่สาม – ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ข้อดี
๑)  ขจัดความเคลือบแคลงและไม่เชื่อมั่นในจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขาดความชอบธรรมในด้านที่มาของอำนาจ
๒)  สถาบันตุลาการถูกกันออกจากจุดที่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย ทำให้ดำรงรักษาความเป็นกรรมการกลางที่เป็นอิสระได้
๓)  สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย
ข้อสังเกต
๑)  ข้อกล่าวหาการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ไม่ได้รับการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม
๒)  ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของบางฝ่ายยังดำรงอยู่
๓)  การสร้างความปรองดองเป็นไปได้ยาก เพราะบางกลุ่มเห็นว่าผู้กระทำผิดยังลอยนวล ไม่มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือไม่
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด จะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส. ในเวลาต่อมา เนื่องจากถือว่าการกระทำของ คตส. เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในขณะนั้น
(๔) การกำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันต่อประเด็นที่อาจจะถูกมองว่าขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย และต้องหลีกเลี่ยงการสร้าง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ในแง่ที่ผู้มีอำนาจรัฐเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดโดยไม่ฟังเสียงที่เห็นต่าง อนึ่ง ประเด็นที่ต้องพิจารณาอาจรวมถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่าย       นิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การตรวจสอบองค์กรอิสระ การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคการเมือง
ในระยะยาว มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้

(๑)  การออกแบบภาพอนาคตของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับและยึดถือร่วมกัน โดยการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันถึงลักษณะความเป็นประชาธิปไตยของไทยที่คนในสังคมยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ อันถือเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเห็นพ้องในหลักการและกติกาทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทย
(๒)  การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองและความทนกันได้ (Tolerance) ในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โดยรัฐบาลควร (๑) แสดงเจตจำนงทางการเมืองชัดเจน รวมทั้งมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว (๒) สร้างความตระหนักแก่สังคมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ และ (๓) มีคำอธิบายต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก อาทิ การให้เกียรติผู้สูญเสียทุกฝ่าย หรือการสร้างสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่รำลึกถึงบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย
ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องนั้น (๑) ทุกฝ่ายควรงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ อาทิ การใช้มวลชนในการเรียกร้องหรือกดดันด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย และ (๒) ควรลดความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยยุติการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจถูกตีความได้ว่าเป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (๓) สื่อมวลชนควรสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดองและหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งใหม่โดยนำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองจากฝ่ายต่างๆอย่างรอบด้าน และ (๔) สังคมไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการทำรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีตและต้องหามาตรการในการป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารอีกในอนาคต พร้อมทั้งกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังที่กล่าวมาจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ คือ (๑) เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐที่จะสร้างความปรองดองโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ (๒) กระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทางป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคต และ (๓) ปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาของประเทศไทย

อนึ่ง คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ริเริ่มกระบวนการพูดคุยร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นโดยไม่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน หลังจากนั้นจึงขยายผลการพูดคุยสู่พรรคการเมืองของตน กลุ่มผู้สนับสนุน และสังคมใหญ่ เพื่อให้ผู้คนทั้งสังคมที่ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองแบบใด เกิดความตระหนักว่า สังคมไทยจะปรองดองกันได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ผ่านกระบวนการพูดคุยที่สามารถนำมาซึ่งทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน 
กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่กระบวนการสร้างความปรองดองในชาติจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องก้าวข้ามไปให้ไกลกว่าการถกเถียงกันเพียงแค่ในข้อกฎหมาย กล่าวคือ ต้องพิจารณาให้กว้างและลึกลงถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง คำนึงถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆในสังคม รวมถึงการมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองที่ทุกฝ่ายในสังคมให้การยอมรับ ภายใต้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่ามีบทบาทและพื้นที่ในการเสวนาถกเถียงถึงภาพอนาคตของประเทศ อันเป็นเสมือนหลักหมุดปลายทางที่ทุกฝ่ายจะร่วมเดินทางไปภายใต้กติกาที่สังคมเห็นพ้องต้องกัน

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th