ความพร้อมของผู้สอน หรือครู/อาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษาสำคัญมากกว่าความพร้อมของผู้เรียน การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา มีปัญหาด้านการเผยแพร่และการยอมรับ นวัตกรรมและเทคโนโลยีอันเป็นผลมาจากความพร้อมของครู/อาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษามากกว่าเป็นผลมาจากผู้เรียน ถ้าครู/อาจารย์และผู้บริหารไม่ยอมรับ (Adoption) นวัตกรรมนี้แล้ว นโยบายการแจก Tablets ไม่มีทางสำเร็จบรรลุผลตามความตั้งใจได้เลย
ในอดีตมีการเผยแพร่การใช้ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead Projector) เพราะผลการศึกษาวิจัยยืนยันโดยตลอดว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเรียนการสอนมากขึ้นกว่าวิธีการสอนแบบเดิม แต่ครู/อาจารย์ ขาดความพร้อมในการผลิตแผ่นใสและใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานศึกษาขาดความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องเรียนที่เหมาะสม ปลั๊กไฟ หรือแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้า จอภาพสำหรับฉาย การบำรุงรักษาเครื่องฉาย เช่น หลอดฉายยังมีราคาแพง แผ่นใสหายากและมีราคาสูง ปากกาเขียนแผ่นใสหาซื้อยากและมีราคาแพง ถึงกับมีความพยายามนำฟิล์มเอกซเรย์เก่าๆ มาล้างและดัดแปลงเพื่อทำเป็นแผ่นใส ปัญหาเหล่านี้มีการนำมาทำเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในขณะนั้น และทำให้มีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วจำนวนมาก
วิทยาลัยครูในยุคนั้น ได้สั่งซื้อเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะแจกจ่ายให้กับวิทยาลัยครูทั่วประเทศ ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวน 36 แห่ง เพื่อหวังว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทำให้เกิดคุณภาพการเรียนการสอน แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่รวดเร็วตามความต้องการ ต้องใช้เวลาต่อมาอีกนับสิบปีกว่าการใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะจะนำมาใช้อย่างเป็นปกติในการเรียนการสอน และเป็นอุปกรณ์ประจำห้องเรียน อาจารย์จะมีแผ่นใสประกอบการสอนเป็นส่วนมาก การบรรยายของวิทยากรต่างๆ จะมีแผ่นใสประกอบ ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการนำเสนอในปัจจุบัน
การแจกคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop) ให้กับโรงเรียนในระยะต่อมาก็เช่นกัน มีความต้องการเผยแพร่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสู่ผู้เรียน เป็นหลักการของความดีงามและความเสมอภาคในการเข้าถึง การมีและการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกัน โรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับการแจกคอมพิวเตอร์โดยขาดความพร้อมทั้งครู และอาจารย์ ผู้บริหาร อาคารสถานที่สำหรับการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานศึกษาโดยเฉพาะในระดับโรงเรียนประถมศึกษานอกเมือง เช่น โรงเรียนบ้านเจ๊ะหลี บนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้รับแจกคอมพิวเตอร์เช่นกัน ในเวลานั้นคอมพิวเตอร์กลายเป็นภาระสำหรับครู/อาจารย์และผู้บริหารที่ต้องเก็บรักษา และเสียพื้นที่ห้องเรียนเพื่อใช้สำหรับเก็บรักษาชุดคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เพราะขาดความพร้อมของครู/อาจารย์ และสถานที่สำหรับการใช้เป็นห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน
ประเด็นความพร้อมการใช้ Tabletsความพร้อมสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส หรือ Tablets ในปัจจุบันมีบริบทแตกต่างไปจากความพร้อมในการใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ และคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่แจกให้กับสถานศึกษาในอดีต ถึงแม้จะมีลักษณะเป็นการเผยแพร่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไปสู่สถานศึกษาโดยใช้วิธีการแบบสั่งการจากบนลงล่าง (Top Down) ผ่านนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลเหมือนกัน แต่เป้าหมายและบริบททางสังคมเปลี่ยนไปดังนี้
1. การเผยแพร่ Tablets มุ่งสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง จากผลการศึกษายืนยันว่าพัฒนาการทางด้านร่างกาย และสมองของผู้เรียนระดับประถมศึกษามีความพร้อมสำหรับการใช้ Tablets รวมทั้งผู้เรียนในวัยนี้มีประสบการณ์พบเห็นและใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายคลึงมาตั้งแต่เริ่มจำความได้ เช่น Remote Control เครื่องคิดเลข โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ข้อสงสัยเรื่องความพร้อมทางร่างกาย สติปัญญา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนิ้วมือที่จะใช้เป็นส่วนสำคัญของการใช้ Tablets มีความเจริญเติบโตเพียงพอสำหรับเด็กปกติวัย 6 ขวบ ที่เริ่มเข้าเรียนในชั้น ป.1 นั้น น่าจะเป็นข้อยุติได้ว่า ผู้เรียนวัยนี้พร้อมสำหรับ Tablets
2. ความพร้อมของสถานศึกษา ด้านอาคาร สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกและปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ในการนำ Tablets ไปใช้นั้น ต้องการโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยเกื้อหนุนน้อยกว่าการใช้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop) และแบบ Laptop มาก ในขณะที่การใช้คอมพิวเตอร์แบบเดิมต้องใช้ทรัพยากรและความพร้อมทางด้าน ห้องเรียน เครื่องปรับอากาศ แหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบการดูแลให้ใช้งานได้ การแก้ไขปัญหา ทั้ง Hardware และ Software ที่ต้องใช้เวลาและความสามารถพิเศษในการทำให้ระบบสามารถใช้งานได้
แต่สำหรับการใช้ Tablets ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลงมาก ไม่ต้องเตรียมห้องเรียนใหม่ ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น ไม่ต้องการกำลังไฟเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมาดูแล Hardware และ Software ทำให้ไม่ต้องเตรียมการมากและไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพียงสถานศึกษามีสายโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ และมี WiFi ก็สามารถดำเนินการได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยมากสำหรับสถานศึกษา จึงทำให้สถานศึกษาจำนวนมากสามารถจัดการกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความพร้อมทางกายภาพสำหรับการใช้งานของ Tablets ได้ แม้แต่โรงเรียนบ้านเจ๊ะหลี บนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ก็สามารถใช้ Tablets ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ความพร้อมของผู้สอน ครู/อาจารย์ เนื่องจากมีช่วงว่างเว้นไม่บรรจุครู/อาจารย์ หรือข้าราชการครูในระยะหนึ่ง ทำให้มีช่องว่างระหว่างครู/อาจารย์รุ่นใหม่ที่อายุน้อย กับครู/อาจารย์รุ่นเก่า ครู/อาจารย์รุ่นใหม่จะมีปัญหาน้อยกับการยอมรับ (Adoption) นวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ เพราะครู/อาจารย์รุ่นใหม่ ได้รับการเตรียมความพร้อมและฝึกการใช้คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จึงสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า และสามารถใช้เทคโนโลยีที่ออกแบบมาให้ใช้ได้อย่างง่าย
แต่สิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงสำหรับครูอาจารย์ คือ ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี Tablets เพื่อการสอน เพราะเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่และมีความสามารถที่ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทั้งเพื่อการเรียนการสอน การศึกษาค้นหาความรู้ ความบันเทิง การสื่อสาร และอื่นๆ การควบคุมชั้นเรียนและการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ครู/อาจารย์ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน
เพื่อขจัดข้อกังวลของฝ่ายการเมือง และฝ่ายสังคมว่า ผู้เรียนจะนำ Tablets ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมนั้น ความรับผิดชอบนี้เป็นของครู/อาจารย์ที่ควรตระหนักต่อความห่วงใยของฝ่ายการเมือง และฝ่ายสังคมซึ่งดูเหมือนจะกังวลกับการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก จนทำให้มีการโต้แย้งการแจก Tablets ในประเด็นความไม่เหมาะสมในการนำ Tablets มาใช้ มากกว่าประโยชน์ของตัว Tablets เอง ผู้ที่พร้อมจะออกมาอธิบาย และให้ความมั่นใจถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เกิดประโยชน์ได้ดีนั้น ควรเป็นครู/อาจารย์ผู้สอน ที่ดูแลพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของผู้เรียน
สรุปการนำคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส (Tablets) ไปใช้ในสถานศึกษานั้น ด้วยเทคโนโลยีและความซับซ้อนของ Tablets นั้น ไม่เกินความสามารถหรือสมรรถนะของผู้เรียน ทั้งทางร่างกาย และสติปัญญาที่จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานศึกษาส่วนมากจะสามารถจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับการใช้ Tablets ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยและไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการดำเนินการ
ครู/อาจารย์ส่วนหนึ่งยังขาดความพร้อมในการสอนด้วยเทคโนโลยี การพัฒนาครู/อาจารย์จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะนำ Tablets ไปสู่ตัวผู้เรียน เพราะครู/อาจารย์นอกจากจะต้องดูแลเรื่องกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยการใช้เทคโนโลยี Tablets แล้ว ยังต้องควบคุมพัฒนาการทางอารมณ์และทางสังคมให้กับผู้เรียนสามารถใช้ Tablets อย่างมีประสิทธิภาพ
การเผยแพร่และสร้างความเข้าใจให้สังคมรับรู้ว่า Tablets เป็นของผู้เรียนเท่านั้นโดยได้รับการแจกมาจากนโยบายของรัฐบาล ส่วนครู/อาจารย์ไม่กล่าวถึง แล้วถ้าครู/อาจารย์ไม่มี Tablets รัฐบาลไม่แจกให้ครู/อาจารย์ แล้วครูจะสอนอย่างไร Tablets ของครูที่ต้องเก็บเงินซื้อเองกับของผู้เรียนที่ได้รับแจกมาอาจไม่เหมือนกัน และถ้าครูเอา Tablets นักเรียนไปใช้จะถูกฟ้องร้อง ทำผิดหรือไม่ หรือปัญหานี้อาจจะเล็กเกินไปจนไม่อยากกล่าวถึง
แต่ผู้รับผิดชอบนโยบายพึงรับรู้ว่า... “นวัตกรรมนี้ ถ้าครู/อาจารย์ไม่ยอมรับ (Adoption) นโยบายนี้ไม่สำเร็จ และ Tablets จะเป็นภาระ หรือเป็นขยะที่รอการกำจัดต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
แหล่งที่มา www.thairath.co.th