วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เลขาฯศอ.บต.เดินหน้ายุทธศาสตร์!นโยบายพัฒนาอาชีพจว.ชายแดนใต้






นานมาแล้วที่คนไทยโดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ (พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) เดินทางไปทำงานประเทศมาเลเซียและส่งเงินมาให้ครอบครัวในประเทศไทย โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้รับรายงานมูลค่าเงินที่ส่งกลับมาประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อเดือน แต่ก็ยังติดอุปสรรคที่ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์ ได้มีโอกาสลงไปในพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเกาะติดถึงปัญหาเรื่องดังกล่าว และมีโอกาสได้ซักถามพูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลปี พ.ศ. 2523 สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย มีการประมาณการตัวเลขคนไทยที่ไปเปิด ร้านอาหารไทย ในประเทศมาเลเซีย จำนวน 6,000 ร้าน และมี แรงงานชาวไทย จากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปทำงานในร้านดังกล่าวอยู่ประมาณ 1.5 แสนคน ส่งรายได้กลับประเทศไทยประมาณ 400 ล้านบาทต่อเดือน

แต่ปัญหาอุปสรรคที่ได้รับทราบเรื่องหนึ่ง คือ “ใบอนุญาตทำงาน” ที่มีราคาค่อนข้างสูงถึง 1 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งนับว่าสูงสำหรับชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีรายได้!!

ทั้งนี้ตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชายแดนภาคใต้คือการส่งเสริมพัฒนาให้ประชาชนมีอาชีพ รายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนในภาคใต้มีความใกล้ชิดกับมาเลเซีย สามารถพูดภาษามลายูได้ ประชาชนจำนวนมากนิยมไปทำงานในมาเลเซีย ส่วนนี้ ศอ.บต. โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เสนอ โครงการพัฒนาอาชีพของประชาชน ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพอ.) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแผนดังกล่าว ในเดือนพ.ย. 2554 ต่อมาจึงมีโครงการสินเชื่อตามหลักของศาสนาอิสลามประเภทต่าง ๆ รวม 12 โครงการ
   
โดยส่วนหนึ่งให้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนไปเปิดกิจการ ส่วนหนึ่งให้แรงงานไทยในมาเลเซียสามารถมี “ใบอนุญาตทำงาน” ได้ในโครงการสินเชื่อแรงงานไทยในมาเลเซีย ประกอบกับที่รัฐบาลไทยประสานกับประเทศมาเลเซียเพื่อลดค่าธรรมเนียมภาษีแรงงานต่างชาติในการขอใบอนุญาตทำงาน และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงส่งเสริมการศึกษา โดยจะเปิดการศึกษานอกโรงเรียน( กศน.) ในประเทศมาเลเซียด้วย เหมือนกับที่เราสนับสนุนคนภาคอีสานไปทำงานประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยการสร้างมาตรฐานให้คนที่ไปทำงานต่างประเทศ

เลขาธิการ ศอ.บต. คาดหวังว่า โครงการนี้จะมีส่วนบรรเทาปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ ที่มีปัญหาซับซ้อน แต่ปัญหาหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและปัญหาความไม่เชื่อมั่น ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และอาจมีการสร้างความเข้าใจผิด ๆ โดยเฉพาะเรื่อง “ร้านอาหารไทย” ในมาเลเซียว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่พอลงไปดูข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม เนื่องจากร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นแหล่งที่สร้างงานให้กับประชาชนในภาคใต้ที่ไปทำงานต่างประเทศแล้วนำเงินกลับมาจุนเจือครอบครอบและสร้างความเจริญในพื้นที่ตัวเอง.

.........................................

4 กลยุทธ์ 12 โครงการ

ร.ท.สุกำพล อดุลยรัตน์ ผอ.ฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยที่มาของโครงการนี้ว่า มีแนวคิดว่าจะทำยังไงให้คนยากจนในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและนำไปประกอบอาชีพส่งเสียเลี้ยงดูลูก ครอบครัวมีการศึกษาที่ดีเข้าไปสู่แรงงานที่ดี มีคุณภาพ จึงทำแผนมานาน 3 ปีจึงเป็นที่มาของ “4 กลยุทธ์ 12 โครงการ” นี้ ประกอบด้วย 1. กลยุทธ์แก้ปัญหาความยากจน คือโครงการสินเชื่อรากหญ้า, สินเชื่อหาบเร่ แผงลอย และอาชีพอิสระ, สินเชื่อเพื่อโครงการพัฒนาอาชีพของรัฐ, สินเชื่อแรงงานไทยในมาเลเซียและรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ 2. กลยุทธ์ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน คือโครงการรัฐวิสาหกิจชุมชน, สินเชื่อเครื่องแต่งกายมุสลิมและ สินเชื่ออาหารฮาลาลรายย่อย 3. กลยุทธ์การบริการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต คือ สินเชื่อเพื่อชำระหนี้นอกระบบ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจสหกรณ์ 4. กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพการศึกษา คือ สินเชื่อพัฒนาสถานศึกษาและ สินเชื่อบุคลากรทางการศึกษา.

มณฑาทิพย์ แซ่ปู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น