เมื่อเวลา 13.00 น. (11 เม.ย.) ทีทำเนียบรัฐบาล นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชประจำ ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงถึงกรณีที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม( ก.พ.ค.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ยกคำร้องทุกข์ที่ นายถวิล ร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม โดยก.พ.ค.ให้เหตุผลว่าคำร้องทุกข์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้นว่า ก่อนหน้านี้ตนเชื่อมั่นในก.พ.ค. เพราะ1.เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องร้องทุกข์ทางวินัยของข้าราชการประจำ 2.คณะกรรมการก.พ.ค.เป็นข้าราชการเก่าเข้าใจความรู้สึกของข้าราชการดี 3.ก.พ.ค.แต่งตั้งขึ้นเมื่อปี51 ซึ่งกรณีของตนถือว่าเป็นกรณีแรกๆที่พิจารณาจึงมั่นใจว่าก.พ.ค.จะดูแลให้ความเป็นธรรมและสร้างมาตรฐานคุณธรรมระบบข้าราชการฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำให้มีศักดิ์ศรีและต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกันได้ เมื่อผลวินิจฉัยของก.พ.ค.ออกมาเป็นเช่นนี้ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ตนจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นภายใน 90 วัน เพื่อขอความเป็นธรรม
นายถวิล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนขอตั้งข้อสังเกตในกระบวนการและขั้นตอนการวินิจฉัยของก.พ.ค.ที่ได้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ชุดที่ 2 ซึ่งเป็นชุดเล็ก ประกอบด้วยคณะกรรมการ3คน โดยหนึ่งในนั้นมีนายศราวุธ เมนะเศวต ประธานกรรมการ ก.พ.ค.มาทำหน้าที่เป็นประธานชุดเล็กด้วย โดยคณะกรรมการ2ใน 3 เห็นว่าคำร้องของตนฟังขึ้นว่าตนถูกกลั้นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรม การโยกย้ายตำแหน่งเลขาธิการสมช.ของตนในขณะนั้น เพื่อต้องการให้ตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่างลง เพราะต้องการให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นมาทำหน้าที่ผบ.ตร. ส่วนเสียงข้างน้อยคือนายศราวุธมีความเห็นว่าคำร้องฟังไม่ขึ้นเพราะเป็นการอ้างคำพูดของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นผู้พูด จึงนำมาพิจารณาไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม
นายถวิล กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นที่คณะกรรมการชุดเล็กได้ส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการก.พ.ค.ชุดใหญ่ เพื่อลงความเห็น โดยที่ประชุมคณะกรรมการก.พ.ค.ชุดใหญ่จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายศราวุธ นางจรวยพร ธรณินทร์ นายภิรมย์ ศรีจันทร์ นายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล นายภิรมย์ สิมะเสถียร และน.ส.ทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ ได้มีมติ 3ต่อ 3 เสียง จนทำให้นายศราวุธซึ่งเป็นประธานก.พ.ค.ต้องลงคะแนนตัดสินชี้ขาดอีกครั้งเท่ากับในการประชุมคณะกรรมการก.พ.ค.ชุดใหญ่ นายศราวุธลงคะแนนถึงสองครั้ง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในกรณีนี้ประธานมีสิทธิออกเสียงหรือไม่ ครั้งนี้ตนรู้สึกว่าถูกจับแพ้ทางเทคนิค
“เมื่อเป็นเช่นนี้ผมเห็นว่าถ้าการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่มีข้อจำกัด ต่อไปข้าราชการจะไม่มีทางร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมได้ หากกรณีของผมไม่ถูกเรียกว่าถูกกลั้นแกล้งแล้วจะมีกรณีของข้าราชการคนใดบางที่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้จะหวังให้ระบบราชการเป็นกลไกพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างไร นอกจากทำให้กลายเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายการเมืองที่จะจัดการอย่างไรก็ได้ ทั้งนี้ระบบข้าราชการที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่จะเต็มไปด้วยการวิ่งเต้น ฉ้อฉล และแสวงหาผลประโยชน์ด้วยมิชอบ ผมอยากฝากถึงคณะกรรมการก.พ.ค.ว่าผมมีสิทธิ์ วิพากษ์วิจารณ์เพราะมีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องศาลปกครองและจะไปให้เร็วภายใน 90 วันเพราะมั่นใจว่าศาลปกครองจะให้ความเป็นธรรมได้ มันเป็นเรื่องตลกที่ย้ายผมโดยอ้างว่าได้ทำงานบริหารราชการแผ่นดินในระดับนโยบายที่เหนือกว่าตำแหน่งเดิม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ทำงานในเชิงนโยบายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองเลย การลงโทษด้วยการย้ายมาเป็นที่ปรึกษาควรยกเลิก ถ้าผมทำผิดก็ต้องสอบสวนและเอาออก แต่หากทำถูกต้องก็อย่ามารังแกกัน ถ้าถามผมว่าบู๊อย่างนี้แล้วจะทำงานร่วมกันกับนายกรัฐมนตรีต่อไปได้หรือไม่นั้น ผมเป็นมืออาชีพพอ ความไม่พอใจ ความรักความชอบทางการเมืองยอมรับว่ามี แต่ยืนยันไม่นำมาปนกับงานของผมแน่นอน” นายถวิล กล่าว
เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับการทำงานของสมช.ในขณะนี้ นายถวิล กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วง เกรงว่าจะมีการแทรกแซงการทำงานจากภายนอก แต่ไม่ห่วงมืออาชีพที่ทำงานอยู่ในนั้น เพราะทุกคนได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทำงานได้ทุกเรื่องจึงไม่จำเป็นต้องมีคนนอกเข้ามาเป็นเลขาธิการสมช.หรือรองเลขาธิการสมช.
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น