วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

แนะตึกแถวใช้ลวดกรงไก่ ต้านแรงแผ่นดินไหว





นักวิชาการเตือนตึกสูงกรุงเทพฯ ต้องระวัง แผ่นดินไหวจากที่ไกล เพราะดินอ่อนจะเพิ่มแรงเป็น 3 เท่า ส่วนอาคารขนาดเล็ก บ้านชั้นเดียว ตึกแถว แนะใช้คาร์บอนไฟเบอร์ หรือเหล็กกรงไก่ พันแล้วหุ้มคอนกรีต
วันนี้(19 เม.ย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จัดประชุมการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย โดยนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยด้านแผ่นดินไหว เข้าร่วม โดย ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์ คณะวิศวกรรมศาตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ  สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งไม่มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แต่พื้นดินที่รองรับเป็นดินอ่อนเป็นพิเศษ จึงมีโอกาสขยายความรุนแรงได้เป็น 3 เท่า และจะเกิดปัญหากับแผ่นดินไหวรุนแรง จากจุดกำเนิดห่างไกล ซึ่งมีคลื่นความถี่ต่ำ เช่น การเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2547 หรือที่เกิดเมื่อวันที่ 11 เม.ย. จะส่งแรงมาถึง และทำให้อาคารสูง โยกได้ นอกจากนี้ หากเกิดแผ่นดินไหว ระดับ 7.-7.5 ขึ้นไปที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์  จ.กาญจนบุรี  หรือ 8.0 ริกเตอร์ ที่รอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมาร์  ห่าง กท. 400 กม. หรือความแรง 8.5 ริกเตอร์ขึ้นไป ที่บริเวณแผ่นเปลือกโลกที่ยังงัดกันอยู่ใต้ทะเลอันดามัน ห่างจากรุงเทพ 600 กม. ก็จะมีผลกระทบกับอาคารสูงใน กท.  ส่วน แผ่นดินไหวระดับ 3-4 ริกเตอร์ ไม่ใช่ระดับที่เกิดอันตรายหรือทำให้อาคารเสียหาย
รศ.ดร.อมร พิมานมาศ อาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า กทม.มีสภาพคล้ายประเทศเมกซิโกซิตี้ ซึ่งไม่มีรอยเลื่อนใต้เมือง แต่พื้นดินเป็นดินอ่อน และอาคารส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบรับแรงแผ่นดินไหว และได้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ริกเตอร์ ห่างไปราว 350 กม. ก็ทำให้เมืองเม็กซิโกซิตี้ ได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตเรือนหมื่น โดยอาคารที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหว ได้แก่ ตึกแถวที่มีความสูงไม่เกิน 4-5  อาคารพื้นท้องเรียบไร้คาน เช่น อาคารจอดรถ คอนโดมีเนียม  อาคารสูงที่ออกแบบพิเศษเช่น ออกแบบเยื้องหนีศูนย์มากๆ  อาคารหรือบ้านเดี่ยวที่สร้างด้วยแผ่นพื้นสำเร็จรูป อาคารที่ต่อเติมหรือทำทางเดินเชื่อมต่อกัน  อาคารทีก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่นทำจากอิฐไม่มีเหล็กเสริม
รศ.ดร.อมร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีกฎกระทรวงควบคุมการก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหว แต่ยังครอบคลุมไม่ถึงอาคารขนาดเล็ก แต่สำหรับพื้นที่จังหวัดอื่นที่เป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหว อาคารทุกชนิดจะได้รับผลกระทบ จึงมีคำแนะนำให้เพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างเช่น เสาอาคาร โดยให้ใช้คาร์บอนไฟเบอร์  พันรอบเสา หรือแจ็กเก็ต ซึ่งได้ทำวิจัยแล้วพบว่า รับแรงและไม่ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อเกิดการสั่นไหว  เหมาะกับอพาร์ตเมนต์ สูง 6-7 ชั้น โดยการพันเสาแต่ละต้นมีค่าใช้จ่ายราว 10,000 – 30,000 บาท ส่วนอาคารขนาดเล็ก ตึกแถว 3 – 4 ชั้น บ้านชั้นเดียว ให้เหล็กเส้นพันรอบแล้วหุ้มด้วยลวดตาข่าย หรือเหล็กกรงไก่  ในระดับความสูง 50 ซม.จากพื้น มีต้นทุนเพียง 1-2 พันบาทหรือถ้าหุ้มอาคารโรงเรียน ราวหลังละ 2 แสนบาท

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น