วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทางออกสับปะรดไทย - เกษตรทั่วไทย





รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสับปะรดรายใหญ่ที่สุดของโลก รองลงมาคือฟิลิปปินส์และบราซิล โดยคาดว่าในปีนี้จะมีผลผลิตประมาณ 2.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ ผลผลิตเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ประมาณ 4 ตันต่อไร่ พื้นที่การปลูกทั่วประเทศ มีประมาณ 640,000 ไร่ ขณะที่ทั่วโลกมีปริมาณการผลิตสับปะรดอยู่ที่ 9.4 ล้านตัน ตลาดสับปะรดที่สำคัญของโลกอยู่ในอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งในสหภาพยุโรปตลาดหลักของไทย คือ เนเธอร์แลนด์และเยอรมนี อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่อเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงทำให้การส่งออกสับปะรดของไทยไปยังตลาดดังกล่าวชะลอตัวลง

สำหรับการผลิตสับปะรดของไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือสับปะรดทานสดและสับปะรดโรงงาน ทั้งนี้ จากการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ขณะนี้มีแนวโน้มของการผลิตสับปะรดทานสดสูงขึ้น เนื่องจากตลาดในอาเซียนและเอเชียมีความต้องการบริโภคที่มากขึ้น เพราะสับปะรดทานสดของไทยมีขนาดผลไม่ใหญ่มากนัก รสชาติหวานกรอบ ปัญหาด้านการเพาะปลูกมีไม่มาก

โดยประเทศไทยสามารถผลิตสับปะรดทานสดได้มากถึงปีละ 2-3 แสนตัน โดยมีประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทย 1,500-2,000 ตันต่อปี รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 250 ตันต่อปีและมาเลเซีย 100-200 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถส่งออกได้เพียง 3,000 ตันต่อปี ที่เหลือเป็นการบริโภคในประเทศ โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นสับปะรดสำหรับทานสด ได้แก่ นางแล ตราดสีทอง ภูเก็ต สวี และมีบางส่วนเป็นพันธุ์ปัตตาเวียซึ่งเป็นสับปะรดที่ใช้ส่งเข้าโรงงานเป็นหลักซึ่งได้มีการนำมารับประทานสดด้วย

สำหรับสับปะรดโรงงาน ไทยผลิตได้ปีละ 2-2.5 ล้านตัน มีโรงงานสับปะรดกระป๋อง ทั้งสิ้น 34 โรงงาน แปรรูปเป็นสับปะรดอบแห้ง 120,000 ตัน สับปะรดกวน 120,000 ตัน สับปะรดทานสด 250,000 ตัน ที่เหลือเป็นสับปะรดกระป๋อง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีรายได้ต่อปีจากการส่งออกสับปะรดกระป๋อง 19,000 ล้านบาท น้ำสับปะรด 6,000 ล้านบาท และสับปะรดกวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นรายได้เข้าประเทศมากกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี นับเป็นรายได้เข้าประเทศที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ

ล่าสุดจากข้อมูลดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ไว้ว่า สับปะรดไทยมีแนวโน้มที่ดีในการขยายตลาดการส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะไทยสามารถผลิตสับปะรดได้มาก อย่างไรก็ดี จำเป็นจะต้องมีนโยบายและแผนการบริหารจัดการสับปะรดทั้ง 2 ชนิด ให้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแผนการปลูก  ที่ต้องอยู่ใกล้กับพื้นที่โรงงาน ชนิดสายพันธุ์ที่ใช้ปลูก ที่เหมาะสมในการทำเนื้อสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด

ที่สำคัญควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างโรงงาน เกษตรกร และภาคการตลาด โดยเฉพาะในระบบ ที่รับรองราคาการรับซื้อ เพื่อให้อุตสาหกรรมสับปะรด ทั้งสับปะรดโรงงานและสับปะรดทานสดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ และสอดรับกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น