วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไอซีทีแจงสอบสัญญา3จีเจอพิรุธ 5 ประเด็น


วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยหลังให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จการทำสัญญาธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ หรือ 3 จี ระหว่างบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)กับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้เวลาตรวจสอบ 120 วัน ว่า วันนี้จะแถลงกรอบ 5 เรื่อง ประกอบด้วยคามเป็นมาในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการทำสัญญาการเปิดให้บริการ 3 จีแบบเอชเอสพีเอ ปี 2554 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.โดยใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งสิ้น 120 วัน โดยมีพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับเอกสารการตรวจสอบอยู่ในการพิจารณา 37 ฉบับ ได้พิจารณาอยู่บนกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ 2550 พ.ร.บ.ว่าด้วยให้เอกชนเข้าร่วมการงานปีพ.ศ.2535 พ.ร.บ.กสทช. ม.46 และ 84 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 พ.ร.บ.แข่งขันทางการ ค้า พ.ศ.2542 ที่กีดกันผู้ให้บริการรายอื่นในการเข้าสู่ตลาด ระเบียบสำนักนายกเรื่องงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 2550  ประกาศกสทช.เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และประกาศกทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และประกาศกสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และได้สอบสวนปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแยกประเด็นการตรวจสอบได้ 5 ประเด็น ดังนี้ประเด็นที่ 1 เมื่อพิจารณาการทำสัญญาทำ 3 จีระหว่างกสท-ทรู น่าจะมีการกระทำที่เป็นการวางแผนไว้แล้ว โดยมีการต่อลองการวางแผนเข้าซื้อกิจการฮัทช์จากเดิมให้เหลือไม่เกิน 7,500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้ให้มีการเจรจาต่อลองให้เหลือเพียง 4000 ล้านบาท ทำให้การเจรจากับฮัทชิสันเพื่อเข้าซื้อกิจการไม่ประสบความสำเร็จ จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ว่าการทำนโยบายต่อลองราคานั้นเพื่อทำให้กสท ไม่สามารถซื้อกิจการกับฮัทชิสันได้ เพื่อให้เอกชนได้เข้ามาทำกิจการร่วม 3 จีรูปแบบใหม่ด้วยเวลาอันรวดเร็วดังกล่าว โดยประเด็นแรกฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 2 การตรวจสอบพบมีเจตนาหลบเลี่ยงไม่ให้ครม.พิจารณา และประเด็นการยกเลิกสัญญาการให้บริการซีดีเอ็มเอใน 25 จังหวัดเดิม เพื่อเข้าสู่การให้บริการ 3 จีเอชเอสพีเอไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือครม. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานกับรัฐพ.ศ.2535 โดยประเด็นที่สองนี้เป็นเรื่องของการนำเสนอเรื่องต่อครม.การดำเนินการเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนว่ากสท.ต้องนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อครม.ให้พิจาณาก่อนนำเสนอสำนักนายก รวมทั้งเรื่องการยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวข้องกับซีดีเอ็มเอ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม
ส่วนประเด็นที่ 3 ในการที่มีการเสนอเรื่องมายังกระทรวงไอซีทีเพื่อเสนอเรื่องวันที่ 24 ธ.ค.2553 มีเจตนาขอความเห็นชอบจากรมว.ไอซีที หลังจากวันที่ 23 ธ.ค.ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าบอร์ดกสท.เพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องการขอซื้อซีดีเอ็มเอในส่วนกลาง พบว่าการดำเนินการเรื่องของหนังสือไม่เป็นไปตามการดำเนินงานปกติ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเรื่องดังกล่าวไม่มีการเสนอเรื่องตามลำดับขั้นตอนอย่างเป็นทางการ สรุปหนังสือที่ยื่นให้รมว.ไอซีทีลงนามมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ไม่มีการพิจารณาหนังสือตามขั้นตอน ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเว้นและไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามราชการปกติ  โดยมีการเตรียมการออกเลขหนังสือไว้ตั้งแต่ 23 ธ.ค.53 ก่อนยื่นหนังสือในวันที่ 24 ธ.ค.53
สำหรับประเด็นที่ 4 น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า แม้ครม.เห็นชอบสัญญากสท-ทรู แต่ให้รับความเห็นโดยนำข้อเสนอของสำนักงานกฤษฎีกาที่ตีความไปพิจารณาด้วย และให้กระทรวงไอซีทีหารือกระทรวงการคลังเพื่อนำไปพิจารณา ซึ่งทางกสท ไม่ได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปดำเนินการ
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงประเด็นที่ 5 ว่า กสทได้ขอให้ครม.เห็นชอบการเช่าโครงข่าย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่าการนำเรื่องเข้าครม.เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสัญญาซึ่งเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ร่วมการงานระหว่างรัฐกับเอกชนพ.ศ.2535 ซึ่งผลการตรวจสอบของคณะกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าสัญญาดังกล่าว ขัดกับพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ของกสทช. และกฎข้อบังคับของกสทช. และไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจ

รมว.ไอซีที กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีข้อเสนอ 4 ข้ออยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญากสท-ทรู ได้ข้อสรุปอย่างไรจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งผลการสอบสวนสัญญากสท-ทรูออกมาในลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหน้าที่อื่น ๆ ด้วยไอซีทีพร้อมที่จะนำเอกสารมอบให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาด้วย
“เรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการโดยผู้ที่จะชี้ว่าสัญญานี้จะต้องเลิกดำเนินงานหรือไม่ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเรื่องนี้มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งเรื่องก็อยู่ที่ปปช.อยู่แล้ว ถ้าเชื่อได้ว่าทุจริตหรือไม่ชอบก็ต้องส่งให้ศาลพิจารณาต่อ คาดจะใช้เวลา 3 วัน จึงจะได้ข้อสรุป โดยการตรวจสอบพบข้อผิดปกติ ส่วนสัญญายังเดินหน้าได้ตามปกติจนกว่าศาลจะตัดสิน” รมว.ไอซีที
สำหรับการทำสัญญาเพื่อดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ระหว่าง กสท-ทรู เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 เพื่อให้บริการ 3 จีบนคลื่นความถี่เดิมด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ ซึ่งเนื้อความในสัญญามี 2 ส่วน คือ สัญญาอนุมัติให้ ทรู ดูแลลูกค้าผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ 700,000 เลขหมายของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์ หลังจากที่ทรู เข้าซื้อกิจการ ฮัทช์ ได้สำเร็จ เป็นระยะเวลา 2 ปี และสัญญาเช่าอุปกรณ์เอชเอสพีเอ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอในส่วนภูมิภาค 51 จังหวัด ให้เป็นโครงข่ายที่ให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่เดิมด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ โดยทรูสามารถเช่าใช้อุปกรณ์และสถานีฐาน เพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จีบนระบบเอชเอสพีเอแบบขายส่งและขายต่อบริการ (โฮลเซล-รีเทล) เป็นเวลา 14.6 ปี

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น