กลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคมในกลุ่มสตรี เมื่อรัฐบาลประกาศให้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ขึ้นด้วยงบประมาณ 7,700 ล้านบาท ต่อการพัฒนาศักยภาพของสตรี 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีร่างแผนการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับในการใช้สิทธิต่าง ๆ ซึ่งมีหลายข้อขัดแย้งต่อความเสมอภาคทางสังคม จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า สตรีจะได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ จริงหรือไม่? โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ โดย รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ประธานโครงการฯ ได้จัดการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี : มุมมองทางวิชาการ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีตัวแทนสตรีจากหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ร่วมรับฟังไรรัตน์ รังสิตพล ตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติ ดูแลด้านการคุ้มครองสิทธิของสตรี ให้ความรู้โดยยกตัวอย่างการบริหารจัดการกองทุนสาธารณะในระดับโลกว่า กองทุนส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ หรือ “ยูนิเฟม” ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมพลังงานของสตรี แรงงานนอกระบบ การยุติการกระทำรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ส่งเสริมความมั่นคงและสันติภาพของสตรี และมีการวางแผนระบบงบประมาณต่างๆ ในกองทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง หรือกองทุนยูเอ็น ทรัสท์ ฟันด์ ฟอร์ วูเมน เน้นเรื่องการประเมินผลและแบ่งปันประสบการณ์ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และกองทุนส่งเสริมเพื่อความเสมอภาคที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมตัดสินในการเมือง แต่หากมองย้อนมาที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีการกำหนดกรอบการดำเนินงานไว้อย่างไร ครอบคลุมขีดความสามารถของสตรีมากน้อยแค่ไหน และมีการสร้างนโยบายช่วยเหลือสตรีที่อยู่นอกระบบของกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือไม่
ด้าน รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เสนอมุมมองว่า การจัดการและดำเนินงานนโยบายสาธารณะ จำเป็นต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยในหลายด้าน เช่น การได้มาของกองทุนที่ต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล, วัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องมองปัญหามากกว่าการจัดสรรเม็ดเงินของกองทุน เพราะการพัฒนาสตรีในระดับชุมชน เงินไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญ แต่มองที่การส่งเสริมศักยภาพมากกว่า, วิธีการดำเนินการของกองทุนต้องให้สิทธิเท่าเทียมกัน ว่าด้วยรัฐธรรมนูญความเสมอภาคของมนุษยชน และควรบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเป็นระบบ เพราะไม่เช่นนั้นจากวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพสตรี จะกลายเป็นหนี้ในภาคประชาชน ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
ขณะที่ ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย เผยว่า หลังจากตัวแทนเครือข่ายสตรี 4 ภาค เข้ายื่นหนังสือเสนอขอแก้ไขระเบียบและข้อกำหนด 7 ข้อ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับในการแก้ไขข้อเสนอจากรัฐบาล แม้มีการขยายการรับสมัครสมาชิกกองทุนฯ ถึงวันที่ 31 มี.ค. นี้ หากครบกำหนดแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปของการแก้ไขข้อเสนอ อาจมีการขับเคลื่อนเรียกร้องผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และศาลปกครอง เพื่อช่วยคุ้มครองสิทธิของสตรีชั่วคราวต่อไป
สำหรับหนังสือเสนอขอแก้ไขระเบียบและข้อกำหนด 7 ข้อได้แก่ ขอให้หยุดการรับสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เนื่องจากผู้หญิงทุกคนควรได้สิทธิโดยอัตโนมัติ, ขอให้รัฐบาลมีการจัดตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ภายใต้อำนาจหน้าที่ ตามความเหมาะสม, ขอให้รัฐบาลทบทวนวัตถุประสงค์ของกองทุน ที่เป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย, รัฐบาลต้องจัดการกองทุนฯ อย่างโปร่งใส, ขอให้งบประมาณกองทุนฯ สามารถกระจายสู่องค์กรสตรีในพื้นที่ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานภาครัฐระดับชาติ, รัฐบาลต้องเร่งรัดให้นโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีภายใน 90 วัน และขอให้รัฐบาลมีการจัดเวทีสาธารณะระดับจังหวัด เพื่อมีการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ภารกิจ และประโยชน์ที่ผู้หญิงทุกคนจะได้รับต่อไป.
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น