ปูม้า เป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ด้วยรสชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้นับวันความต้องการปูม้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสวนทางกับจำนวนประชากรปูม้าในธรรมชาติที่เริ่มลดน้อยลง
โดยสาเหตุเกิดจากการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการจับปูม้ามากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ปูม้าในธรรมชาติไม่สามารถเกิดทดแทนได้ทันปริมาณที่ถูกจับมาใช้ประโยชน์จึงอยู่ในสภาพถดถอย เนื่องจากปริมาณการจับเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ
ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จาก การศึกษาการประเมินสภาวะทรัพยากรปูม้าในบริเวณทะเลไทย ของสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง พบว่าฝั่งอ่าวไทยมีปริมาณการจับปูม้าสูงกว่าฝั่งอันดามัน คือในปี 2528 ในฝั่งอ่าวไทยมีปริมาณการจับปูม้าได้เพียง 18,708 ตัน ต่อมาในปี 2541 มีปริมาณการจับเพิ่มขึ้นและสูงสุดถึง 37,281 ตัน
จากนั้นปริมาณการจับมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ และมีค่าเท่ากับ 15,132 ตัน ในปี 2552 ดังเช่นกรณีทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออกซึ่งมีระดับผลผลิตเท่ากับ 4,531 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 566 ล้านบาท แต่สภาวะปัจจุบันมีการนำทรัพยากรปูม้ามาใช้เกินกำลังการผลิตถึงร้อยละ 10 และเกินจุดมูลค่าสูงสุดถึงร้อยละ 40 รวมทั้งพบว่ามีการจับปูม้าขนาดเล็กก่อนถึงขนาดเจริญพันธุ์ขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทำให้ปูม้าที่จะเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์มีจำนวนที่ลดลงเป็นอันมาก
ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ปริมาณทรัพยากรปูม้าของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ผ่านมากรมประมงได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรปูม้ามาโดยลำดับแล้ว เช่น การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องห้ามทำการประมงปูไข่นอกกระดอง ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี เพื่อให้ปูได้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติก่อนที่จะถูกจับขึ้นมาบริโภคหรือจำหน่าย
ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ปริมาณทรัพยากรปูม้าของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ผ่านมากรมประมงได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรปูม้ามาโดยลำดับแล้ว เช่น การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องห้ามทำการประมงปูไข่นอกกระดอง ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี เพื่อให้ปูได้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติก่อนที่จะถูกจับขึ้นมาบริโภคหรือจำหน่าย
การกำหนดห้ามใช้เครื่องมือลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบต่ำกว่า 2.5 นิ้ว ทำการประมง การกำหนดห้ามใช้เครื่องมืออวนลากอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงในระยะห่างจากฝั่ง 3,000 เมตร รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตปูม้า เช่น การจัดทำธนาคารปูม้า การจัดตั้งชุมชนประมงต้นแบบเพื่อเพิ่มผลผลิตปูม้าทั้งแบบเพาะในโรงเรือน และจัดทำกระชังแขวนโดยขอความร่วมมือจากชาวประมง และการเพาะพันธุ์ปูม้าเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยในอนาคตคาดว่า จะสามารถขยายผลเพื่อการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มประชากรปูม้าในธรรมชาติยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก หากความต้องการใช้ประโยชน์ยังมีอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการปูม้าเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสม สามารถบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง สมดุลต่อกำลังผลิตที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กรมประมงจึงได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าของประเทศไทยอย่างยั่งยืนขึ้น
เพื่อวางแนวทางในการเพิ่มผลผลิตปูม้าทดแทนปริมาณที่ลดลงอย่างต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ต่อไป.
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น