วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

จากธนูถึงครูอังคณา - 1001




ก่อน

อื่นผมต้องกราบขออภัยที่จำเป็น ต้องอ้างอิงถึงครูอังคณาซึ่งกำลังกลายเป็นบุคคลที่สามผู้โด่งดังในโลกโซเชียลมีเดีย
เรื่องราวทั้งหมดใน 1001 วันนี้ มิได้มีเจตนาในทางลบต่อกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคำว่า ไวรัลลิตี (Virality) ซึ่งสามารถใช้อธิบายเหตุการณ์ของวลี “จนกระทั่งโดนธนูปักที่หัวเข่า” มาจนถึง “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่”
คำว่า ไวรัลลิตี นี้เป็นคำที่ยืมมาจากทางการแพทย์ หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ของบางอย่าง เช่น ข้อความ อีเมล วิดีโอ หรือรูปภาพ แพร่กระจายตัวเหมือนไวรัส คือ ก๊อบปี้ตัวเองจากคนคนหนึ่งไปปรากฏในกระบวนความคิดของอีกคนหนึ่ง ไม่ว่าจะผ่านสื่อใดก็แล้วแต่ คำ ๆ นี้ถูกใช้มากในวิธีการทางการตลาดที่เรียกว่า ไวรัลมาร์เกตติ้ง (Viral Marketing) ซึ่งเป็นเทคนิคทางการตลาดอาศัยการสื่อสารออนไลน์เป็นหลัก
แต่เดิมนั้น (และแม้กระทั่งเฟซบุ๊กเอง) มักจะวัดอัตราการแพร่กระจายนี้ด้วยอัตราการแชร์ หรือจำนวนคนที่เข้ามาดูเนื้อหานั้น ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่หลายคนอยากรู้ในโครงข่ายของโซเชียลมีเดียเหล่านี้ คือ ใครเป็นผู้กระจายข่าวสารที่มีพลังมากที่สุด เพราะหากเรารู้ เราก็จะสามารถส่งสื่อโฆษณา หรือสิ่งที่ต้องการให้แพร่กระจายไปยังคนเหล่านี้ เพื่อให้ข่าวสารเหล่านั้นแพร่กระจายไปด้วยธรรมชาติของโซเชียลมีเดียเอง
แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดโน้มเอียงไปอีกทางหนึ่ง คือ กลุ่มนี้มีแนวคิดว่า สิ่งที่จะสามารถกระจายออกไปได้ เพราะตัวของมันเอง ซึ่งแนวคิดนี้เกิดมาไม่นานนี้ ตัวอย่างของงานวิจัยจากกลุ่มนี้ ก็มีเช่น งานวิจัยเมื่อปีที่แล้วของมาร์โค จิวรินิ, คาร์โล สแตรปปาราวา และ เกิซเด ออสบาล ซึ่งตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการทริปเปิลเอไอ (AAAI) เกี่ยวกับเว็บบล็อกและสื่อสังคม ที่ระบุว่า จริง ๆ แล้ว เราอาจจะสามารถระบุได้ว่า ตัวเนื้อหาใด จะได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปได้ในสังคมออนไลน์ โดยพิจารณาจากตัวเนื้อหาเอง ไม่ต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้
ในงานของจิวรินิและชาวคณะนั้นได้ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องโดยรับข้อมูลเป็นคำต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหา แล้วนำคำเหล่านั้นมาใช้แยกแยะว่า เนื้อหานั้นจะเป็นที่ชื่นชอบหรือไม่ จะมีคนคอมเมนต์หรือกระจายตัวมากหรือไม่ จะมีการโต้แย้งกันหรือไม่ หรือจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันมากหรือไม่
จากผลการทดลองของงานวิจัยนี้สรุปได้ว่า เพราะตัวเนื้อหาเองที่ทำให้มันกระจายตัวออกไปได้ ไม่ต่างจากการที่มีเพื่อนเห็นและแบ่งปันหรือส่งต่อในโซเชียลมีเดีย
วลียอดฮิตก่อนหน้านี้ที่ว่า “I took an arrow in the knee” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถสนับสนุนแนวคิดของงานวิจัยนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเกิดการใช้คำนี้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทยที่กลายเป็นวลียอดฮิตว่า “จนกระทั่งโดนธนูปักที่หัวเข่า” ซึ่งตัววลีนี้เองไม่ได้มีการแชร์ผ่านเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ แต่การแพร่กระจายเกิดจากการที่มีผู้ใช้ต่อ ๆ กันมาโดยเริ่มจากทวิตเตอร์แล้วจึงมาเป็น เฟซบุ๊ก และในที่สุดก็กลายเป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป
สำหรับกรณีของ “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ก็คล้ายกันตรงที่การกระจายตัวของข้อความเกิดจากการใช้งานของตัวมันเอง แม้จุดเริ่มต้นของวลีนี้จะต่างกัน ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นจากยูทูบก่อน แล้วจึงแพร่กระจายไปตามสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปอย่างรวดเร็ว
ก็ไม่แน่นะครับ เราอาจจะได้เห็นวลี “Kru Angkhana will definitely find out about this.” แพร่กระจายในโลกออนไลน์บ้างก็ได้
ถ้าถึงเวลานั้นก็ขอให้มองว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีใครผิด ไม่ได้มีใครถูก ไม่ได้สะท้อนความเหลวแหลกของสังคมใด ๆ
“มันก็แค่ปรากฏการณ์สนุก ๆ เรื่องหนึ่งในโลกออนไลน์...เท่านั้นเอง”.
สุกรี สินธุภิญโญ
(sukree.s@chula.ac.th)
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.facebook.com/1001fanpage

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น