วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

ระบบดูแลผู้สูงอายุผ่านมือถือ






จนได้ออกมาเป็นเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจและเครื่องตรวจสอบการล้มของผู้สูงอายุ

จากข้อมูลพบว่า แนวโน้มผู้สูงอายุในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำหรับในประเทศไทย  แนวโน้มของผู้สูงอายุมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นทุกปีโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 หลาย ๆ ประเทศจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้น

ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาโดยส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุ คือปัญหาเรื่องของสุขภาพ ส่งผลให้ผู้สูงอายุอาจได้รับความกระทบกระเทือน เจ็บปวด หรืออาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น การคำนึงถึงวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างถูกวิธีจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ดร.เทอดศักดิ์ ลิ่วหาทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผู้พัฒนาระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทางไกลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่าวว่า โดยทั่วไปการตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ จะมีการตรวจวัดความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ และการวัดเบาหวาน ซึ่งบางครั้งการเดินทางไปโรงพยาบาลอาจสร้างความลำบากให้กับผู้สูงอายุ นอกจากนี้การหกล้มยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ

จึงมีแนวคิดพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ได้ออกมาเป็นเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจและเครื่องตรวจสอบการล้มของผู้สูงอายุ ใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวในระหว่างวันที่บ้านได้

เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ผู้สูงอายุสามารถตรวจวัดความดัน อัตราการเต้นของหัวใจได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ถึงโรงพยาบาล และเอาค่าที่วัดได้ส่งไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทันที ซึ่งแพทย์สามารถนำค่าที่ได้มาวินิจฉัยว่าตอนนี้สุขภาพของผู้สูงอายุเป็นอย่างไรบ้าง

ส่วนเครื่องตรวจสอบการล้มของผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมักอยู่ที่บ้านตามลำพัง ลูกหลานออกไปทำงาน เรียนหนังสือนอกบ้าน ซึ่งจะมีปัญหาว่า หากหกล้มขึ้นมาไม่มีใครพาส่งโรงพยาบาล ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีอาการกระดูกพรุน กระดูกเปราะ ถ้าเกิดล้มขึ้นมาก็จะกระดูกหักได้ หากส่งโรงพยาบาลช้า อาจกลับมาเดินอีกไม่ได้ หรือถึงขึ้นเสียชีวิต

สำหรับการทำงานเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ใช้ง่าย เพียงสอดนิ้วเข้าไปด้านในเครื่องที่มีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจอยู่  เริ่มต้นการทำงานด้วยการกดปุ่มสีแดง เพื่อที่จะให้เครื่องมือเริ่มต้นนับอัตราการเต้นของหัวใจ จนครบ 10 ครั้ง ผลจะถูกแสดงออกมาบนหน้าจอว่าผู้สูงอายุมีอัตราการเต้นของหัวใจเท่าไหร่ กี่ครั้งต่อนาที

ส่วนการทำงานของเครื่องตรวจจับการล้มของผู้สูงอายุ ประกอบด้วยอุปกรณ์ 3 ชิ้น ได้แก่ เซ็นเซอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง  โดยเซ็นเซอร์ ใช้ตรวจจับความเคลื่อนไหว ซึ่งจะผูกติดอยู่ที่เอวของผู้สูงอายุตลอดเวลา หากหกล้ม  ตัวเซ็นเซอร์ก็จะส่งข้อมูลการล้มมาที่โทรศัพท์มือถือที่อยู่กับตัวผู้สูงอายุ

โทรศัพท์มือถือที่ติดอยู่กับตัวผู้สูงอายุจะลิงก์ข้อมูลที่ได้รับจากเซ็นเซอร์ส่งผ่านมายังบลูทูธ โดยโทรศัพท์เครื่องนี้จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณเอสเอ็มเอสไปยังโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่งที่อยู่ที่โรงพยาบาล จากนั้นโทรศัพท์เครื่องที่อยู่ที่โรงพยาบาล ก็จะอ่านข้อมูลจากเอสเอ็มเอส ที่ส่งมาจากโทรศัพท์ของผู้สูงอายุและทำการค้นหาข้อมูลในฐานข้อมูลได้ว่าอยู่บ้านเลขที่เท่าไหร่ ที่ไหน อย่างไร  และสามารถส่งรถพยาบาลไปรับมารักษาได้ทันท่วงที หรือส่งข้อมูลไปยังญาติของผู้สูงอายุ
   
ทีมผู้วิจัย บอกว่า การพัฒนาระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทางไกลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นหนึ่งในโครงการที่นักศึกษาของคณะฯ  3 คน ได้ร่วมวิจัยและพัฒนาขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ความสามารถในการใช้งานอยู่ในระดับดี

ในอนาคต จะพัฒนาให้เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจมีขนาดเล็กลง เพื่อสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ส่วนเครื่องตรวจสอบการล้มของผู้สูงอายุ ตอนนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาต่อยอด จะไม่ใช้ โทรศัพท์ 2 เครื่อง เพื่อให้การใช้งานสะดวกมากขึ้นเช่นกัน.

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น