วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ฟันธงสังคมไทยไปไม่รอดหากไม่มีจริยธรรม


วันนี้( 3 เม.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ  นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ได้กล่าวปาฐกถาเรื่องจริยธรรมกับทางรอดประเทศไทย : ปัญหาและทางออก ในงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปีผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่จะเป็นทางออกของประเทศ คือ ต้องทำให้จริยธรรมเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และต้องทำให้คนกลัวจริยธรรม กล่าวคือต้องสร้างความเข้มแข็งและความกล้าขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมจริยธรรม นอกจากนั้นแล้วต้องปลุกสำนึกของประชาชน ให้กลายเป็นพลังที่เข้มแข็งเพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายราชการ  ดังนั้นตนขอฝากให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เดินหน้าในเรื่องสร้างจิตสำนึกของประชาชนที่ไม่ยอมรับการคอรัปชั่น และไม่ยอมรับคนที่ทำทุจริตทำผิดกฎหมาย

 นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า การวัดค่าความโปร่งใสของประเทศไทยในปีนี้ ได้ 3.4 คะแนน ตนถือว่าเป็นระดับที่ไม่เลวร้ายเกินไป หากเทียบกับค่าสำรวจความโปร่งใส 17 ปีที่ผ่านมา ที่เฉลี่ยได้ 3.3 คะแนน ทั้งนี้สาเหตุการคอรัปชั่นและการทำผิดจริยธรรม มีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ 1.กระแสบริโภคนิยม วัตถุนิยม 2.โครงสร้างสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์ แบบแนวดิ่งที่ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องวิ่งเข้าหาผู้ที่มีอำนาจมาก เพื่อให้ตนเองอยู่รอด และได้ตามที่ตนเองต้องการ 3.กระบวนการยุติธรรมในระบบไม่เข้มแข็ง ทั้งนี้ตนไม่ได้หมายความว่าองค์กรในกระบวนการยุติธรรมต้องคิดและตัดสินอย่างเดียวกัน แต่การวินิจฉัยขององค์กรยุติธรรมต้องอยู่บนหลักพื้นฐาน เที่ยงธรรม ยุติธรรม และไม่อยู่ภายใต้สภาพการกดดันใดๆ  แต่บางเรื่องถูกสังคมพิพากษาไปตามความรู้สึก ซึ่งองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักพยานหลักฐาน ความเที่ยงธรรมและไม่มีอคติ และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ตัดสินตามความรู้สึก แต่ตอนนี้สังคมไทยยังขาดความกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง 4.การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง และ 5.ความเบื่อหน่ายและเพิกเฉยของประชาชนต่อการทุจริต ที่ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง

ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า การป้องกันการทุจริต คอรัปชั่น ได้จำเป็นต้องให้สังคมรับรู้ถึงโทษของการคอรัปชั่น แม้ว่าการคอรัปชั่นจะส่งผลดีในระยะสั้น อาทิ กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แต่เมื่อพิจารณาแล้วในระยะยาวมีผลร้ายแรง ได้แก่ 1.ลดประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง  ซึ่งถือว่ากระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ ให้กับสังคม ทำให้เกิดการบิดเบือนนโยบายการคลัง และทำให้การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติไม่มีประสิทธิภาพ 2.คุณภาพของทุน และบริการพื้นฐาน อยู่ระดับต่ำ ไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขัน 3.ทำให้เกิดการเบี่ยงเบียนการจัดสรรทรัพยากรในเอกชน ทั้งเงินทุน คนมีคุณภาพ 4.ลดศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

นายบรรยง กล่าวต่อว่า การคอรัปชั่นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ภาคเอกชนก็ขาดการพัฒนา โดยจะเห็นได้ว่างบลงทุนในการวิจัยภาคเอกชนต่ำที่สุด เพราะมองว่าต่อให้พัฒนาไปก็สู้กับการใช้วิธีซื้อหาความได้เปรียบหรือการกีดกันการแข่งขันที่ลงทุนต่ำว่าไม่ได้  ตนเห็นว่าหากประเทศไทยไม่สามารถปรับปรุงดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นที่อยู่ในระดับที่ร้อยละ 3.4 ให้สูงเกินกว่าร้อยละ 5 ได้ โดยยังคงพัฒนาไปในลักษณะนี้กว่าเราจะไปอยู่ในระดับเดียวกับมาเลเซียในปัจจุบันคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 50 ปี คือหลังปีพ.ศ. 2600 ไทยจึงจะบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนา

 “ความเห็นส่วนตัวมองว่ามี 7 มาตรการที่จะต่อสู้กับการคอรัปชั่นได้  คือ 1. เปลี่ยนทัศนคติของคนสังคม ให้ไม่ยอมรับ หรือไม่เพิกเฉยกับการทุจริต คอรัปชั่น 2.การกระจายอำนาจรัฐ ในประเด็นงบประมาณท้องถิ่น ให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบ 3.แก้ไขระเบียบปฏิบัติของระบบราชการ ขจัดเงื่อนไขที่นำไปสู่การทุจริตโดยเฉพาะการใช้วิจารณญาณของผู้มีอำนาจ 4.แปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างสมบูรณ์  5.เปิดเสรีระบบแข่งขันเพิ่มขึ้น 6.ส่งเสริมองค์กรภาคประชาชน ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ ข้อมูล และส่งไปยังสื่อมวลชน ประเทศไทยสำนักข่าวหลักไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่  และ 7.ร่วมมือกับนานาชาติ ซึ่งมีองค์กรที่ต่อต้านการคอรัปชั่น อย่างไรก็ตามการต่อสู้กับคอรัปชั่นนั้นควรริเริ่มจากภาครัฐ เพื่อให้การขจัดคอรัปชั่นเป็นไปอย่างได้ผล  ทั้งนี้การประกาศต่อต้านการคอรัปชั่นของรัฐบาลปัจจุบันยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม” นายบรรยง กล่าว

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น