วันนี้(3 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม) วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ซูโดอีเฟดรีน และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ. 2555 แล้ว เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ลงมาตรวจสอบกรณียาแก้หวัดด้วยตัวเองเพราะมองว่าการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข 2 มาตรฐาน นายวิทยา กล่าวว่า กรณีนี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องไปแล้ว แพทย์ชนบทที่ไหน หนองหมาว้อหรือเปล่า เมื่อถามย้ำเรื่องการดำเนินการ 2 มาตรฐาน นายวิทยา กล่าวว่า ให้เขามาพูดข้าง ๆ ตน ต่อข้อถามว่า มีการมองว่า ผอ.รพ.ชุมชนโดนสอบสวนอยู่ฝ่ายเดียว นายวิทยา กล่าวว่า พูดแบบนี้เป็นเพื่อนกันหรือเปล่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม) วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ซูโดอีเฟดรีน ที่นายวิทยาลงนาม ระบุว่า ภายใน 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับให้สถานพยาบาลที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในปร่ะเภท 2 และไม่ประสงค์จะมีไว้ในครอบครองยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมเพื่อการบำบัดรักษา และร้านขายยาทุกแห่ง ดำเนินการจัดส่งยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมคืนให้กับผู้ผลิตและนำเข้า
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ. 2555 สาระสำคัญ ระบุว่า กรณีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซูโดอีเฟดรีนนั้นปริมาณครอบครองหรือใช้ประโยชน์หากคำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วมีปริมาณไม่เกิน 5 กรัม มิฉะนั้นต้องระวางโทษตามมาตรา 106 ทวิ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท โดยประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หลังจากเสนอประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ลงนามแล้ว จะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ทันที ดังนั้นต่อไปแม้แต่ยาบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกที่จำหน่ายตามร้านขายยา หรือสถานพยาบาล ซึ่งเป็นสูตรผสมพาราเซตามอลก็ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่ง อย.จะให้เวลาสถานพยาบาลที่ไม่มีใบอนุญาตไว้ในครอบครอง ร้านขายยา 30 วันเก็บยาสูตรผสมพาราเซตามอลทุกชนิดคืนบริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้า แต่หากคลินิกต้องการจะจ่ายยาดังกล่าวอยู่ก็ขออนุญาตมาที่ อย. ได้
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ยาแก้หวัดที่เหลืออยู่ที่บริษัทผู้ผลิตกว่า 60 ล้านเม็ด ก็ให้ระงับการซื้อขาย ส่วนที่เหลือใน รพ.ประมาณ 20 ล้านเม็ด นั้นก็ให้เข้มงวดในการสั่งจ่ายโดยแพทย์และจัดทำบัญชีผู้ป่วยอย่างละเอียด โดย อย.จะดูการใช้สักระยะว่ามีการใช้มากน้อยเพียงใด จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และในอนาคตทางคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทต้องมาคุยกันว่าจะให้เหลือยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนสูตรไหนบ้าง ทั้งนี้ในวันที่ 4 เม.ย. ทาง อย.จะประชุมชี้แจงมาตรการควบคุมยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน หลังจากยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ให้กับผู้ผลิต นำเข้า ขาย ชมรามร้านขายยา รพ.เอกชน โดยมี รมว.สาธารณสุขไปร่วมชี้แจงที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์
นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า จากการลงพื้นที่ไปตรวจสอบ รพ.นวมินทร์ 9 กรณีการสั่งซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนพบว่าไม่มีความผิดปกติ ส่วน รพ.นวมินทร์ 1 นั้น จากข้อมูลมีการซื้อยาแก้หวัด 922,500 เม็ด แต่เมื่อลงไปตรวจสอบพบว่า ยาดังกล่าวไม่ได้ส่งไปที่ รพ.นวมินทร์ 1 เพราะทาง รพ.นวมินทร์ 1 ไม่ได้สั่งซื้อยาดังกล่าว แต่คนสั่งซื้อคือ คนกลางที่อ้างชื่อ รพ. สั่งซื้อยาจำนวนดังกล่าว 19 ครั้งและยาที่คนกลางอ้างชื่อ รพ.นวมินทร์ 1 สั่งซื้อนั้นได้ส่งไปขายให้กับร้านขายยา 70 แห่ง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ อย. และอีเอสไอจะตรวจสอบข้อมูลต่อไป
นพ.สมชัย กล่าวต่อว่า สบส. จะเดินหน้าตรวจสอบ รพ.เอกชนและคลินิกต่าง ๆ ต่อไป โดยขณะนี้มี รพ.เอกชนอยู่ในข่ายต้องตรวจสอบ 4 แห่งโดยมียอดการสั่งซื้อยาประมาณ 4 แสนเม็ดต่อปี และคลินิก 5 แห่งมีการสั่งซื้อยาสูงผิดปกติประมาณ 3.5 แสนเม็ดต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูล รพ.รัฐ รพ.เอกชน และคลินิกที่ทาง สบส.เข้าไปดำเนินการนั้นเป็นข้อมูลจาก อย.ที่มีการจัดทำรายงาน 2 ปีย้อนหลังการสั่งซื้อยาแก้หวัดซูโดอีเฟดรีนสูงที่สุด ซึ่งมีทั้งหมด 20 แห่ง ที่ตรวจสอบไปแล้ว เช่น รพ.อุดรธานี รพ.ทองแสนขัน รพ.กมลาไสย แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ยังไม่มีการตรวจสอบ เช่น รพ. และคลินิกอีกหลายแห่งที่ยังไม่ตรวจสอบ.
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น