สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ในพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
วันนี้ (3 เม.ย.) มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ในพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานอำนวยการ จัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ประธานจัดสร้างพระเมรุฯ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร คณะกรรมการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้ารับเสด็จ
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังที่ประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ กราบทูลรายงานถึงการดำเนินการก่อสร้างพระเมรุว่า นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้รัฐบาล และประชาชนชาวไทย เป็นผู้ถวายพระเกียรติยศจัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ตามอย่างโบราณราชประเพณี รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ร่วมพิจารณาเตรียมงานพระราชพิธีตามราชประเพณีถวาย ให้สมพระเกียรติ และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษา แก่คณะกรรมการ
โดยการดำเนินงานได้มอบหมายให้คณะกรรมการ 8 คณะ ร่วมกันรับภารกิจสำคัญดังต่อไปนี้ 1. คณะกรรมการฝ่ายจัดการพระราชพิธี 2. คณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และพระยานมาศ 3. คณะกรรมการฝ่ายจัดขบวนพระอิสริยยศ 4.คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ 5. คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ 6. คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจร 7. คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ และ8. คณะกรรมการจัดทำนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้เตรียมการและดำเนินงานส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบไว้อย่างสมบูรณ์ ด้วยความศรัทธา ความจงรักภักดี และเต็มกำลังความสามารถ ทำให้งานของทุกฝ่ายสำเร็จลุล่วงงดงามอย่างน่าสรรเสริญยิ่ง
ขณะเดียวกันในส่วนของการก่อสร้างพระเมรุ และอาคารในปริมณฑล ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุฯ ได้สำเร็จสมบูรณ์และสมพระเกียรติยศ สิ่งก่อสร้างประกอบด้วยพระเมรุและสะพานเกริน หอเปลื้อง พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน 7 หลัง ซ่าง 4 หลัง ทับเกษตร 4 หลัง ทิม 8 หลัง พลับพลายก 3 หลัง และเกยลา เฉพาะองค์พระเมรุเป็นงานสถาปัตยกรรมที่งามสง่าทรงปราสาทจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง กว้าง 31.80 เมตร ยาว 39 เมตร 80 เซนติเมตร สูง 39 เมตร โดยมีกรรมการและนายช่างที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ 2.นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ ด้านสถาปัตยกรรมไทย ผู้ออกแบบพระเมรุและสิ่งปลูกสร้าง ประกอบพระเมรุ 3. นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างพระเมรุ 4. นายกัมพล ตันสัจจา ผู้รับผิดชอบในการจัดสวน ตกแต่งไม้ดอก ไม้ประดับบริเวณปริมณฑล
จากนั้น เวลา 17.15 น. โหรหลวงทำพิธีบูชาฤกษ์ที่ศาลเทวดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจิมสัปตปฎลเศวตฉัตร อธิบดีกรมศิลปากรถวายสายสูตร ทรงถือสายสูตรยกยอดสัปตปฎลเศวตฉัตร ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตรและดุริยางค์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ยกเชิญเศวตฉัตรสวมบนปลียอด จากนั้นพระราชทานสายสูตรให้นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร รับไปผูกไว้ที่เสาบัวกลุ่ม แล้วค่อยๆ เลื่อนสัปตฎลเศวตฉัตรขึ้นสูนยอดพระเมรุ เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับสัปตฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ มีลักษณะเป็นฉัตรผ้าขาวทรงกลม 7 ชั้น สูง 4.55 เมตร คันฉัตรทำด้วยสเตนเลสทาสีทอง เมื่อนำมาสวมกับโครงปลียอดจะยึดด้วยนอตสลักยาว 3 นิ้ว กำพูฉัตรเป็นไม้กลึงแกะสลักปิดทอง เพดานฉัตรดาดด้วยผ้าลินินสีขาว ระบายฉัตรแต่ละชั้นเป็นผ้าลินินสีขาวซ้อนทับกัน 3 ชั้นไล่ระดับ ชายผ้าทุกชั้นขลิบแถบดิ้นปิดทองคำเปลวโดยรอบ โครงระบายฉัตรชั้นที่ 1 ห้อยดอกจำปาสีทอง 8 สาย สายละ 8 ดอก ยอดฉัตรเป็นไม้กลึงปิดทองคำเปลวสูง 1.16 เมตร ส่วนบนสุดของยอดฉัตร เมื่อประดิษฐานแล้ว ติดสายล่อฟ้าขนาด 9 มิลลิเมตร ร้อยซ่อนภายในแกนจากยอดฉัตรผ่านคันฉัตรสู่พื้นดิน.
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น