วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขนส่งทางบกเร่งศึกษาปรับราคามิเตอร์แท็กซี่


Pic_246207

ขนส่งทางบก ระบุกำลังศึกษาความเหมาะสมในการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ คาดได้ข้อสรุปสิ้นเดือน มี.ค.นี้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่ประชาชนยังนิยมใช้บริการต่อ...

เมื่อ วันที่ 17 มี.ค. นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากกรณีที่  คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานมีมติให้ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ CNG โดยกระทรวงพลังงานได้ให้ความช่วยเหลือด้วยโครงการบัตรเครดิตพลังงาน NGV เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ และยังไม่ทราบนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะขยายความช่วยเหลือต่อไปอีกหรือ ไม่ ขณะที่ผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์ได้มีการเรียกร้องขอปรับอัตราค่าโดยสาร ให้สูงขึ้นนั้น ดังนั้นระหว่างนี้กรมการขนส่งทางบกจึงได้มีการศึกษาผลกระทบในการปรับอัตรา ค่าโดยสารเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพื่อให้ประชาชนยังคงนิยมใช้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ ขณะที่ผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์ก็ต้องสามารถให้บริการได้ต่อไป โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนมีนาคม 55 นี้จะต้องได้ข้อสรุปในภาพรวมทั้งหมด

นาย สมชัย กล่าวต่อว่า กรมการขนส่งทางบกได้เปิดรับจดทะเบียนรถแท็กซี่มิเตอร์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2535 และได้ศึกษาและพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยล่าสุดมีการปรับอัตราค่าโดยสารเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 51 โดยปรับอัตราค่าโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึง 12 เดิมกิโลเมตรละ 4.50 บาท ปรับเป็น 5 บาท จากกิโลเมตรที่ 12 ขึ้นไปถึง 20 เดิมกิโลเมตรละ 5 บาท ปรับเป็น 5.50 บาท จากกิโลเมตรที่ 20 ขึ้นไป เดิมกิโลเมตรละ 5.50 บาท ปรับเป็นกิโลเมตรที่ 20 ขึ้นไปถึง 40 กิโลเมตรละ 6 บาท จากกิโลเมตรที่ 40 ขึ้นไปถึง 60 กิโลเมตรละ 6.50 บาท จากกิโลเมตรที่ 60 ขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตรละ 7.50 บาท และจากกิโลเมตรที่ 80 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 8.50 บาท

นาย สมชัย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการจดทะเบียนรถแท็กซี่สะสม ณ วันที่ 31 ม.ค. 55 พบว่า มีจำนวนรถแท็กซี่ทั้งสิ้นจำนวน 99,375 คัน เป็นรถแท็กซี่ส่วนบุคคล จำนวน 23,757 คัน และรถแท็กซี่นิติบุคคล จำนวน 75,618 คัน และจากสถิติจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 พบว่า มีรถตู้โดยสารประจำทาง จำนวน 13,686 คัน รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 7,104 คัน ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลายช่องทาง ซึ่งหากอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์สูงเกินไป จะทำให้ประชาชนหันไปใช้บริการอื่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้บริการรถแท็กซี่น้อยลง ในทางตรงกันข้ามหากต้นทุนผู้ประกอบการรถแท็กซี่สูงเกินไป จะทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ต่อไป ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้บริโภคเช่นเดียวกัน ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงต้องพิจารณาเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่อย่าง ละเอียด รอบคอบ เป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้บริการ และคุ้มค่าในการลงทุนของผู้ประกอบการขนส่งด้วย

แหล่งที่มาข้อมูล www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น