วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

“ดีเอสไอ”รับลูก“เพื่อไทย”สอบอภิสิทธิ์-สุเทพ





“ธาริต”เด้งรับ“เพื่อไทย”สอบอภิสิทธิ์-สุเทพ ปลุกม็อบ ขัดขวางสภาประชุมพ.ร.บ.ปรองดอง
วันนี้( 7 มิ.ย. )ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายวรชัย   เหมะ  ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย  พร้อมด้วยจ.ส.ต.ประสิทธิ์  ไชยศรีษะ  ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และนางรพิพรรณ  พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีดีเอสไอ  เพื่อขอให้สอบสวนกรณีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  และนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  มีพฤติกรรมกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย กรณีขัดขวางการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเลื่อนวาระการพิจารณาพ.ร.บ.ปรองดอง  พร้อมขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ  โดยนายธาริต  กล่าวว่า  ดีเอสไอจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา และสอบสวนข้อมูลเบื้องต้น  หากพบว่ามีการกระทำความผิดก็จะเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับเป็นคดีพิเศษต่อไป ทั้งนี้ เห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องถือเป็นผู้มีอิทธิพลตามกฎหมาย  หากเป็นความผิดก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง  อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการรับเรื่องดังกล่าวไว้สอบสวนไม่ใช่การรับลูกทางการเมือง แต่เป็นรับพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ดีเอสไอจะทำงานด้วยความโปร่งใส  ตรงไปตรงมาและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะเชิญฝ่ายผู้ร้องเข้าให้ปากคำเพิ่มเติม

ที่ประชุมอสส.มีมติไม่ยื่นเรื่องศาลรธน.วินิจฉัยตามม. 68





 วันนี้(7  มิ.ย. )ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณียื่นศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ใช้เวลานาน 5  ชั่วโมง ว่า ตามที่บุคคลและคณะบุคคล รวม 6 ราย คือ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ,นายบวร ยสินทร กับพวกกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง ๓ สถาบัน ,นายวรินทร์ เทียมจรัส , พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กับพวก , และพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับพวกสมาชิกวุฒิสภา  ได้มีหนังสือส่งเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กรณีคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานรัฐสภา ได้ร่วมกันเสนอ รับพิจารณา และลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ซึ่งกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 นั้น คณะกรรมการ ฯ เห็นว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว รวมทั้งให้อำนาจอัยการสูงสุดในการที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยถึงการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ด้วย เพื่อมิให้อัยการสูงสุดใช้อำนาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง

นายวินัย กล่าวอีกว่า ขณะที่เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา แล้วเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  และบทเฉพาะกาล ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 68 และจากการตรวจสอบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ทั้งสามฉบับ ปรากฏว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/11 ทั้งสามฉบับ มีข้อความเหมือนกัน โดยวรรคห้าบัญญัติว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำมิได้  จึงเห็นได้ว่าการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ไม่ได้มีเจตนาหรือต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก มาตรา 291

“การที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองหลายพรรค  เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 291 จึงไม่มีเนื้อหาเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งหก ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่ามีพฤติการณ์หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการตามความในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  รัฐสภาจะต้องยึดความเห็นขององค์กรไหน นายวินัย กล่าวว่า การดำเนินการต่อไปขององค์กรอื่นอัยการสูงสุดไม่ได้พิจารณา ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำวินิจฉัยของบุคคลและคณะบุคคลไว้ก่อนหน้านี้ จะทำให้ประชาชนสับสนหรือไม่นั้น อัยการขอไม่ก้าวล่วงอำนาจขององค์กรอื่น  เราดำเนินการเฉพาะอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดเท่านั้น

เมื่อถามว่า หากรัฐสภาจะดำเนินการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยอ้างความเห็นของอัยการสูงสุด จะสามารถทำได้หรือไม่ นายวินัย กล่าวว่า การพิจารณาของอัยการสูงสุดเป็นเพียงความเห็นหนึ่งเท่านั้น การดำเนินการของรัฐสภาก็เป็นเรื่องกรอบอำนาจของรัฐสภา  เราไม่ก้าวก่ายอำนาจขององค์กรอื่น

"เฉลิม"เปิดโครงการรถตรวจปัสสาวะเคลื่อนที่





"เฉลิม" เปิดตัวรถตรวจปัสสาวะเคลื่อนที่ สน.บางบอน เผยใช้เงินตัวเองสนับสนุนปรับปรุงรถเพื่อภารกิจตรวจปัสสาวะตามชุมชน

วันนี้ ( 8 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ สน.บางบอน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดตัว “รถตรวจปัสสาวะเคลื่อนที่ สน.บางบอน” โดยมี พล.ต.ต.รัษฎากร ยิ่งยง ผบก.น.9 พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.บางบอน ผู้แทนสำนักงานเขตบางบอน ผู้แทนเรือนจำพิเศษธนบุรี และเด็กนักเรียนตามสถานศึกษาในพื้นที่ให้การต้อนรับ ทั้งนี้รถคันดังกล่าวถูกดัดแปลงมาจากรถควบคุมผู้ต้องหาด้วยงบประมาณที่รองนายกฯ สนับสนุนเป็นการส่วนตัว จำนวน 40,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในภารกิจตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดผู้ต้องสงสัยตามชุมชน โรงงาน สถานศึกษาและจุดสกัดต่างๆ ความพิเศษของรถคันนี้คือสามารถใช้ตรวจผู้ต้องสงสัยได้ทั้งชายและหญิงเนื่องจากมีการนำเครื่องปรับอากาศ ชุดน้ำยาตรวจปัสสาวะ และโถชักโครกพร้อมผ้าม่านกั้นบังตาแบบมิดชิดไปติดตั้งเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวก โดยรถตรวจปัสสาวะเคลื่อนที่จะออกปฏิบัติการตามวงรอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้กำลังพลบนรถไม่เกิน 10 นาย รวมถึงตำรวจหญิงอย่างน้อย ผลัดละ 2 นาย เพื่อควบคุมผู้ต้องสงสัยเพศหญิงขึ้นรถทำการตรวจปัสสาวะได้ตามความเหมาะสมอีกด้วย

นายกฯ คาดโทษผู้ว่าฯ –ผู้บังคับการตำรวจจังหวัด ดูแลความเดือดร้อนของประชาชนอย่างใกล้ชิด




นายกฯ คาดโทษผู้ว่าฯ –ผู้บังคับการตำรวจจังหวัด ดูแลความเดือดร้อนของประชาชนอย่างใกล้ชิด อย่าให้มีม็อบร้องเรียนปิดถนน บอกต้องยึดกติกาของคนกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มน้อย ลั่นประเมินการทำงานจาก 4 เรื่องหลัก
วันนี้ ( 8 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อติดตามความคืบหน้าในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยและความคืบหน้าการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่ได้รับอนุมัติจากครม.แล้ว โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) ทั่วประเทศ  หัวหน้าส่วนราชการ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัย เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง


ทั้งนี้ในช่วงหนึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำกับ ผวจ.ทุกจังหวัดด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างเข้ม ว่า ขอให้ ผวจ. กับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งด้านพืชผลทางการเกษตร ความเป็นอยู่ ราคาสินค้า บ้านเรือนที่เสียหาย และการแก้ปัญหายาเสพติด  โดยต้องทำงานเชิงลึกและเชิงรุก เข้าให้ถึงหัวอกประชาชน อย่าให้มีการปิดถนนร้องเรียน ถ้ามีขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย และหากประชาชนเดือดร้อนขอให้ส่งตัวแทนมาเจรจา ทางกระทรวงก็ต้องเปิดช่องทางให้ ผวจ.ด้วย  อย่าให้ตนต้องทราบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเองก่อนที่จะมีการรายงานมาจากทางจังหวัด เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ ผวจ. และผู้บังคับการตำรวจที่ต้องดูแลประชาชน



“อย่าทิ้งปัญหาบนหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วดิฉันต้องโผล่หน้าไปแก้ปัญหา และอย่าให้ปัญหาการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ผวจ.และผู้การตำรวจจังหวัดซึ่งอยู่ในพื้นที่รู้ดีที่สุด ดังนั้นการแก้ปัญหาขอให้เป็นการแก้ปัญหาของคนกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่คนกลุ่มน้อย อย่าทำให้คนกลุ่มเล็กมาทำลายกติกาของคนกลุ่มใหญ่”


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ตนจะประเมินผลการทำงานของ ผวจ.จากการทำงานใน 4 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาความเดือดร้องของประชาชน 2.การเตรียมการรับมือสถานการณ์อุทกภัย 3.การแก้ปัญหายาเสพติด และ 4.ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

มูลนิธิแสง-ไซ้กีจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่คณะใหญ่บริการประชาชน





มูลนิธิ แสง-ไซ้กี เหตระกูล ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่คณะใหญ่ ลงพื้นที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยนำแพทย์ผู้เชียวชาญเฉพาะทาง กว่า 100 คน ให้บริการตรวจรักษา และให้ยาแก่ชาวบ้านฟรี ทั้งนี้มีผู้มารับการตรวจรักษากว่า 4,000 คน
เมื่อเวลา 09.05 น.วันที่ 8 มิ.ย. นายณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ  ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานเปิดงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้กับมูลนิธิ แสง-ไซ้กี เหตระกูล กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ณ โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา  โดยมีประชาชนชาวปักธงชัย  และอำเภอใกล้เคียงมารับการรักษากว่า  4,000  คน

โดย นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ ประธานมูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล เปิดเผยว่า มูลนิธิฯและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เป็นแพทย์เฉพาะทางคณะใหญ่กว่า 100 ท่าน จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เดินทางไปให้การตรวจรักษา และให้ยาแก่ชาวบ้านฟรี อาทิ คณะแพทย์วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่น 27) แพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ฯลฯ

ด้าน นายสุชาติ นพวรรณ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่มารับการรักษา ได้กล่าวขอบคุณคณะหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่มาให้การรักษาในครั้งนี้ด้วย

สำหรับหน่วยแพทย์ดังกล่าว ประกอบด้วยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจรักษาโรคทั่วไป โรคเกี่ยวกับจักษุ โรคเกี่ยวกับเด็ก โรคผิวหนัง แพทย์สูตินารีเวช และแพทย์กระดูก ทั้งนี้เพื่อเป็นการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ.