วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

สุกำพล”ยันไม่โทษทหารปมบึ้มใต้ มั่นใจดับไฟใต้ได้


เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้(5 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหมครบรอบ 125 ปี โดยมี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.  พล.อ.อ.อิทธพร  ศุภวงศ์ ผบ.ทอ.  
โดย พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวถึง ความคืบหน้าเหตุระเบิดที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และโรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า  เท่าที่ทราบตำรวจจับผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก ซึ่ง ผบ.ตร.ได้แถลงไปแล้ว และศาลไม่ให้ประกันตัว แสดงว่ามีหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งคงเป็นเรื่องทางกฎหมาย โดยเราต้องรุก ไม่ใช่ว่า มีเหตุการณ์แล้วรุกกันที เราต้องปรับแผนตามไปเรื่อย เพราะเขาก็ปรับแผนไปเรื่อย ส่วนกรณีที่คนร้ายได้หลบหนีไปยังประเทศมาเลเซียเราได้ประสานงานกันและมีหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสันติบาล ทั้งนี้หากถามว่าการข่าวบกพร่องหรือไม่ เราต้องดูว่า กลุ่มผู้ร้ายไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว ดังนั้นการข่าวต้องใช้เวลาและค่อนข้างยาก เพราะมีหลายกลุ่มประมาณ 8-9 กลุ่ม และมีพวกของเถื่อนและกลุ่มต่างๆคอยสนับสนุน ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเขียนว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นเก่าหรือใหม่ หรือกลุ่มพูโล ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ร้าย              
 “ทหารพยายามทำเต็มที่ ความจริงพื้นฐานเรามีการป้องกันที่ดีอยู่แล้ว แต่เราอาจหละหลวม อย่างไรก็ตามตนไม่โทษว่าพื้นที่นี้ใครดูแล ไม่โทษใครทั้งนั้น แต่หน่วยที่รับผิดชอบรู้ดีว่าใครรับผิดชอบตรงไหน ส่วนการเจรจากับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบนั้น  ไม่ได้บอกว่า เป็นนโยบายของตนให้ไปเจรจากับฝ่ายตรงข้าม แต่ผู้สื่อข่าวถามมา ซึ่งตอบว่า คนที่ไม่ถูกกัน หากคุยกันได้น่าจะดีอย่างอเมริกากับรัสเซียเขาไม่ถูกกันแต่ยังคุยกัน นักมวยบนเวทียังคุยกันได้ ถ้าผู้ปฏิบัติข้างล่างสามารถคุยได้  ทั้งนี้ยืนยันว่า งานด้านความมั่นคงเราเดินเต็มที่ หลักๆคือจะทำอย่างไรไม่ให้มีระเบิดเกิดขึ้นในเมืองอีก ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ปฏิบัติจะต้องนำไปปฏิบัติให้ได้ จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้การตรวจตราดีขึ้น รวมถึงการปรับกำลังในพื้นที่ที่มีปัญหาเพื่อทำให้การดูแลพื้นที่ทั่วถึงและคลอบคลุมมากที่สุด และยืนยันว่าการทำงานของหน่วยงานต่างๆเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพียงแต่บางอย่างยังทำไม่เต็มที่ ทุกคนรู้ทฤษฎีหมดว่าต้องทำอย่างไร วันนี้เราต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาให้ได้”รมว.กลาโหม กล่าว 
แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“สุกำพล”เผยไทย-เขมรคุยปัญหาชายแดนฉลุย


วันนี้ (5 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกัมพูชา (เจดับเบิ้ลยูจี) เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการพูดคุยกันเป็นบวก โดยมีเรื่องสำคัญ 2 ประเด็นคือ ไทยกัมพูชาเห็นพ้องทำงานด้วยกัน และจะร่วมกันเก็บกู้กับระเบิดที่อยู่ในพื้นที่ 17.3 ตร. กม.บริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารทั้งหมด ทั้งนี้คณะทำงานเจดับเบิ้ลยูจีไม่ใช่หน่วยงานตัดสินใจ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทยกัมพูชา (เจบีซี) โดยที่เจดับเบิ้ลยูจีเป็นส่วนหนึ่งของเจบีซีเท่านั้น ขณะนี้ไทยกัมพูชายคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง โดยขณะนี้ยังไม่มีการปรับกำลังทหารในพื้นที่ ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนกำลังเป็นไปตามวงรอบเท่าน้น โดยยืนยันว่ายังไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่
เมื่อถามว่าจะดำเนินการกับประชาชนชาวกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.อย่างไร พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เรายังไม่พูดถึงตรงนั้น แต่คงเป็นเรื่องต่อไปที่ต้องคุยกัน เรื่องนี้ต้องระวังเพราะบ้านเมืองก็มีหลายกลุ่ม  จึงต้องค่อยๆคุยกัน เพราะบางทีจะเกิดผลหลายเรื่อง แต่ในส่วนของทหารจะพูดคุยกันบนพื้นฐานความเข้าใจ พื้นที่เขาพระวิหารมีนิดเดียว ซึ่งต่อไปเราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และไทยเป็นประเทศที่โชคดีที่อยู่ตรงกลางของประเทศอาเซียน การรวมตัวกันของอาเซียนถือเป็นโชคดีของประเทศไทย ปัญหาที่พูดกันเป็นเรื่องเล็กน้อย ลิ้นกับฟันต้องกระทบกันบ้าง                
ผู้สื่อข่าววรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมดุสิตธานี ได้มีการประชุมเจดับเบิ้ลยูจี ครั้งทื่ 1 โดยพล.อ.วรพงษ์ สง่าแนตร เสนาธิการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นประธานฝ่ายไทย ส่วนพล.อ.เนียง พาด รมช.กลาโหมกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายกัมพูชา ใช้เวลาประชุมเกือบ 10 ชั่วโมง โดยที่ประชุมมีมติว่า 1.ทั้งสองฝ่ายจะแต่งตั้งเลขานุการของตัวเอง เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานของคณะทำงานร่วม โดยจะสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ โทรสาร อีเมล และวิทยุสื่อสาร 2.ที่ประชุมเห็นชอบมอบหมายให้ศูนย์การเก็บกู้ทุ่นระเบิดของทั้งไทยและกัมพูชา เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่ที่กำหนด
โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะดำเนินการบริเวณจุดที่กำหนดคือ เอ บี ซี ดี ของพื้นที่เขตปลอดทหหารชั่วคราว 3.การประชุมเป็นไปด้วยบรรยากาศเป็นมิตรมีความเข้าใจที่ดีต่อกันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ดี สนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อความมั่งคั่งของประชาชนสองประเทศ และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานความเท่าเทียม และความเข้าใจซึ่งกันและกัน ตามเจตนารมณ์ของอาเซียน เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้การประชุมครั้งต่อไปจะมีการประสานวันเวลา สถานที่อีกครั้ง โดยทางกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพในการประชุม สำหรับผลการประชุมครั้งที่ 1 ฝ่ายไทยจะรายงานให้จีบีซีดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายภายในของฝ่ายไทยต่อไป โดยการประชุมครั้งที่ 1 ไม่มีการลงนามแต่อย่างใด แต่ใช้รูปแบบการบันทึกการหารือแทน  

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ชี้"ป๋าเปรม"คุย"แม้ว"ได้ก็ดี


วันนี้(5เม.ย.) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณืถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง ว่า คำว่า ปรองดอง เป็นคำที่สวยอยู่แล้ว แต่คนที่ทำก็ขอให้ทำอย่างปรองดอง ส่วนจะเป็นวิธีการไหนก็แล้วแต่ แต่การจะปรองดองนั้น เงื่อนไขอย่ามีมาก หากเข้าไปอย่างมีเงื่อนไขไม่มีทางสำเร็จ ดังนั้นต่างฝ่ายต่างต้องมีเงื่อนไขน้อยๆ แล้วทุกอย่างจะสามารถทำได้ แต่ถ้ามีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่จบ สำหรับตนแล้วถ้าผลออกมาอย่างไรก็อย่างนั้น ตนถือมติส่วนมาก ถ้ามัวแต่มาบอกว่า ไม่เอา จะเอาอย่างนั้น คงไม่จบ แต่คำว่า ปรองดองเป็นคำที่สวย และมีความหมายดี คนที่พูดคุยหรืออยู่ในกระบวนการ อย่าพกเงื่อนไขเข้าไป จะต้องเอาเงื่อนไขวางไว้ หากมีก็ขอให้มีน้อย หากมีเยอะจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้หากคนที่อยากจะปรองดองเข้ามาคุยกันได้จะทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดี ยกแรกอาจจะเรียบร้อย ยกสอง ยกสามอาจจะหมดแรงและคงจะปรองดองกันได้                
เมื่อถามว่า หากพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกัฐมนตรี พูดคุยกันจะนำมาสู่แนวทางการปรองดองหรือไม่ พล.อ.อ สุกำพล กล่าวว่า ทั้งสองคนไม่ได้เป็น Key Person คิดว่า ทั้งสองคนไม่ได้เกี่ยวกัน แต่ทั้งสองคนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งผลจะออกมาอย่างไรท่านก็ยอมรับ ท่านไม่ได้ไปรังเกียจเดียจฉันท์ ท่านไม่ได้ตั้งแง่ ทั้งนี้ถ้าได้พูดคุยกันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องวิธีการตนไม่ทราบ

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

สภาถกปรองดอง พท.-ปชป.โต้เดือด


ที่รัฐสภาวันนี้(5เม.ย.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสมศักดิ์ เกีรยติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม โดยได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างปรองดองแห่งชาติ ต่อจากเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ซึ่งส.ส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายสนับสนุนแนวทางการปรองดองและให้ความเป็นธรรมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด ต้องคืนความยุติธรรม ดังนั้นการปรองดองต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ  อาทิ นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เหตุที่ต้องเพิกถอนผลทางกฎหมายในคดีที่ทำโดยคณะกรรมการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เนื่องจากที่มาไม่ชอบธรรม และอดีตกรรมการ คตส.บางคนกำลังถูกกรรมตามทัน อาทิ นักกฎหมายที่ถูกยื่นถอนถอนออกจากตำแหน่ง อีกคนเป็นชายชื่อขึ้นต้นว่า “กล้า” และอีกคนที่เป็นผู้หญิง นามสกุล “เมณฑกา”
จากนั้นเวลา 10.10 น. นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รายงานที่กรรมาธิการปรองดองเสนอเข้าสู่สภาในวันนี้ไม่ใช่ฉบับแรก แต่เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นการรับงานมาจากผู้ส่งงาน เพื่อรอการตัดสินใจของรัฐบาล เนื่องจาก 2 ฉบับก่อนหน้านี้ไม่ตอบโจทย์ของผู้ส่งงาน จึงเป็นเหตุให้เราต้องโต้แย้ง โดยโจทย์ของรัฐบาลคือการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีอาญาและคืนทรัพย์ที่ถูกยึดให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะดำเนินการเองจึงให้กรรมาธิการปรองดองเป็นผู้ดำเนินการ สิ่งนี้จะเป็นเงื่อนไขเพิ่มความขัดแย้ง ไม่ได้นำไปสู่ความปรองดอง อย่างไรก็ตามการจะปรองดองได้ต้องหาคู่ขัดแย้งที่แท้จริง ซึ่งในความเห็นตนคู่ขัดแย้งขณะนี้คือขบวนการทักษิณกับประเทศไทยที่แยกออกเป็นระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และระบบการเมืองไทย ส่วนที่มีการพูดถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการจับคู่ขัดแย้งที่ผิด การเสนอให้บุคคลทั้งสองพูดคุยกันจึงเป็นข้อเสนอที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้และต้องไม่เกิดขึ้น เพราะพล.อ.เปรม ไม่ใช่ตัวแทนความขัดแย้ง

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

เครือข่ายแรงงาน ยื่นส.ส.ปชป.หนุนร่างพ.ร.บประกันสังคมเร่งเข้าพิจารณาในสภา


ที่รัฐสภา วันนี้ ( 5 เม.ย.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายประกันสังคม ได้ยื่นหนังสือต่อนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ผลักดันให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับพ.ศ.....) ให้ผ่านความเห็นชอบในการประชุมสภาในสมัยนี้
โดยน.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการบรรจุวาระดังกล่าว เป็นเรื่องด่วนในลำดับที่ 12 ซึ่งรวมถึงร่าง พ.ร.บ.ที่ประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน แต่ทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานมีความกังวลว่า สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีความชัดเจนที่จะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จึงขอให้ทางพรรคประชาธิปัตย์ผลักดันให้ร่างดังกล่าวเสร็จสิ้นในสมัยการประชุมนี้
 
ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า ทางพรรคสนับสนุนการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก ได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย แต่จะได้รับการพิจารณาเร็วหรือช้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้าน แต่ขึ้นอยู่กับวิปรัฐบาล เนื่องจากมีเสียงข้างมาก แต่เราก็ยินดีที่จะสนับสนุน

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ตัวแทนSMEร้องกมธ.แก้กฎหมาย หลังถูกเจ้าหน้าที่ใช้ช่องโหว่กฎหมายตบทรัพย์


ที่รัฐสภา วันนี้ ( 4 เม.ย.) ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) กว่า 20 คน นำโดยนางสุชาดา นันพานิชสกุล นายกสมาคมฯ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายประชา ประสพดี รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอให้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการโรงแรมขนาดกลางและขนาดย่อม ในเขตกทม. 290 แห่งได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะการยื่นขอใบอนุญาตที่ต้องยื่นผ่านกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงแรมต้องขอใบรับรองการใช้อาคาร แต่กลับไปติดปัญหาพ.ร.บ.ผังเมือง ที่กำหนดให้อาคารที่จะใช้ประกอบกิจการโรงแรม ต้องมีการขอจดแจ้งเพื่อประกอบกิจการโรงแรม แต่โรงแรมของพวกตนสร้างก่อนที่จะมีพ.ร.บ.ดังกล่าว และได้จดแจ้งว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม จึงทำให้เกิดความยุ่งยาก เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่เรียกเก็บค่ารายเดือน มิฉะนั้นจะใช้อำนาจจับกุม และยื่นฟ้องต่อศาล จึงอยากให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขกฎกฎกระทรวงมหาดไทย ให้มีการรับรองอาคาร ออกใบอนุญาตกิจการโรงแรมอย่างถูกกฎหมายให้ผู้ประกอบการ
นายประชากล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้แจ้งต่อประธานคณะกรรมาธิการเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม โดยจะเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอยากจะสอบถามว่า ทำไมต้องให้ผู้ประกอบการเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนด้วย ถือเป็นการอาศัยช่องโหว่มาไล่ทุบตีผู้ประกอบการหรือไม่

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

นายกฯ เรียกประชุมหน่วยมั่นคงติดตามคืบบึ้มใต้


ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันนี้(5เม.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อติดตามความคืบหน้าเหตุคาร์บอมที่ อ.หาดใหญ่ และ จ.ยะลา รวมทั้งหามาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช. และ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ขาดเพียง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ติดชี้แจงเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ที่สภาฯ โดยใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี ได้รีบเดินทางไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่พล.ม.2 เพื่อไปตรวจเยี่ยมการฝึกผสมระหว่างกองทัพบกกับกองทัพบกสิงคโปร์ รหัสคชสีห์ 2012 ที่บ้านภักดี  แผ่นดิน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ กล่าวเพียงว่า ให้รอขากลับ  

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

จัดงานครบรอบ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ "ธีรยุทธ" ชี้ไทยล้าหลัง-ขัดแย้งเพิ่มขึ้น


วันนี้ ( 5 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มีการจัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์  5 เม.ย.55  “ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน? ประเทศไทยกับระบบศาล” ซึ่งภายในงานมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงาน อาทิ นายอมร  จันทรสมบูรณ์  นักวิชาการด้านกฎหมาย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายธีรยุทธ บุญมี  ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ในเวลา 10.00 น. นายธีรยุทธ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ในวันนี้ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตยได้จัดงานขึ้นมาโดยเชิญบุคคลสำคัญ มาร่วมปาฐกถาในหัวข้อที่เกี่ยวกับระบบศาล เนื่องจากเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ทุกสถาบันต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตที่รุนแรง และกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเวลานี้ด้วย ตนอยากให้ ทุกคนมองปัญหาของตนเองให้มาก เพราะขณะนี้คนไทยไม่ค่อยฟังใคร ฉะนั้นขอเรียกร้องให้ทุกคนแก้ตัวเองก่อน อย่าเพิ่งไปเรียกร้อง ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ในโปรแกรมการพัฒนาประเทศมานาน กว่า 50 ปี ผ่านระยะเวลามาจนถึงวันนี้ เริ่มเฉื่อยช้า ล้าหลัง และมีปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโปรแกรมนี้ล้าหลังจึงต้องยกเครื่องสังคายนาใหม่  ทั้งช่วงที่ผ่านมาก็มีการพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกร่างใหม่ ฉะนั้นจึงต้องมีการพูดคุยกันว่าควรจะมีการผลักดันให้ระบบศาลเดินหน้าไปในทิศทางใด และเห็นว่าควรจัดการเสวนาเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมองภาพลักษณ์ของศาลเปลี่ยนแปลงไป
จากนั้นเวลา 10.30 น. นายอมร ได้ปาฐกถาในหัวข้อ ระบบยุติธรรมกับประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ตอนหนึ่งว่า  ระยะเวลานี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาบทบาทโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง โดยรัฐธรรมนูญตั้งปี 2540 – 2550 ระบบมีความสำคัญที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบทางการเมือง  และที่สำคัญไม่ต่างกันคือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยในปี2540 ประเทศไทยถือว่าเป็นก้าวสำคัญ คือ มีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น มีองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีศาลปกครองเกิดขึ้นตามมาหลังมาด้วย ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านระบบศาลต้องเจอศึกหนัก ระบบเผด็จการของนักการเมือง พรรคการเมือง ในรัฐสภา ซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในโลก อีกทั้งระบบศาลยังต้องเจอกับการที่จะต้องตรวจสอบระบบสถาบันการเมืองที่ไม่เหมือนประเทศอื่น จึงเป็นเรื่องที่หนัก เพราะฉะนั้นต้องมาดูว่าเมื่อเปลี่ยนผ่านศาลควรจะทำผลงานอย่างไร เพราะผลงานจะเป็นเครื่องชี้และสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับประชาชน เพราะถ้าสร้างผลงานที่ดีก็จะได้รับการสนับสนุน แต่ปัญหาก็คือจะสร้างผลงานได้ดีหรือสร้างความศรัทธาได้พอหรือไม่ ฉะนั้นคำวินิจฉัยจะต้องอยู่ในสภาพที่ดีสร้างความน่าเชื่อถือ อย่าสับไปสับมา แต่ถ้าหากคำวินิจฉัยไม่อยู่ในสภาพที่ควรจะเป็น ก็จะส่งผลต่อบทบาทของศาล ต่อไป
นายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถา ในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ 5 เม.ย. ถึงเรื่องศาลกับความยุติธรรมในมิติต่างๆ ของไทย ตอนหนึ่งว่า ในสถาบันศาลรัฐธรรมนูญข้อบกพร่องประการแรกคือที่มาที่ไปของตัวตุลาการฯ  เพราะไม่มีเหตุจูงใจ ไม่มีใครอยากมา เพราะระบบศาลไม่ว่าจะทำอะไรตัดสินเรื่องใดก็มักจะผิด โดนกล่าวหาตลอดว่าเหตุใดจึงวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นนั้น ตนยอมรับว่าในคณะตุลาการมีทั้งคนดีและไม่ดีรวมอยู่ โดยคุณภาพของแต่ละบุคคลนั้น อาจจะย่อหย่อนไปตามลักษณะของแต่ละคน ถึงแม้ทุกองค์กรจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกัน แต่การทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน  รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถยื่นถอดถอนตุลาการได้ ทำให้การพิจารณาคดีต้องศึกษาคดีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันการกล่าวหาว่าพิจารณา แบบ 2 มาตรฐาน
สำหรับหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีภารกิจมิได้อยู่ที่การตัดสินคดีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนด้วย ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ไว้คือ ผู้พิพากษาไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินคดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้พิพากษาถือว่ามีอีกสถานะหนึ่งคือนักกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสต้องนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย
“ตัวผมที่ตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเพื่อนยุ และส่งเสริม ด้วยความที่ทุกคนเชื่อว่าผมไม่เข้าพวกใคร และทำงานไม่มีอคติ ดังนั้นเมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่ให้ดีที่สุดพิจารณาโดยไม่มีอคติ พิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายตามพยานหลักฐาน และการเข้ามาก็ไม่ได้ต้องการความร่ำรวยจากอาชีพนี้  รับรู้เพียงว่าพอมีพอกินเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องการแสวงหาความร่ำรวย เพราะทุกอย่างอยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการทำอย่างไรให้พอมีพอกิน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำตัวให้หรูหรา และถ้าไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องเหล่านี้ก็จะอยู่ได้อย่างมั่นคง  นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าแต่ละองค์กรมีทั้งดีและคนไม่ดี เช่นเดียวกันองค์กรตุลาการ แม้ไม่มีหลักฐานระบุชัดแต่มองหน้าก็รู้แล้วว่าบุคคลนี้เป็นคนไม่ดี”นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ระบบศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการล็อบบี้ใครได้ที่ระบุว่าศาลตัดสินคดีตามใบสั่ง ยืนยันว่าไม่มี ชีวิตตนที่ได้ใบสั่งก็มีแต่ใบสั่งจราจร เพราะการตัดสินวินิจฉัยคดีไม่มีใครมาสั่งได้  อย่างล่าสุดการวินิจฉัยพ.ร.บ กู้เงินของรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาไปตามหลักฐาน ไม่ได้อคติ แต่ที่ยังมีพวกที่ไม่เข้าใจเพราะว่าเราไม่ได้บอกเขาเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม ต้องสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่าเราคิดอะไร ให้ประชาชนตรวจสอบได้ คำวินิจฉัยอย่าว่าแต่ให้ประชาชนอ่านเลยแม้แต่นักกฎหมายอ่านยังงง เนื่องจากเป็นถ้อยคำของกฎหมาย ทั้งนี้ ภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมากดูแลทั้งหมดยาก โดยปัจจุบันสำนวนคดีที่ค้างมาจากปี 2553 ใกล้จะหมดแล้ว อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า ตนเองยังยึดมั่นตามแนวทางของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ พร้อมย้ำด้วยว่า ทุกวันนี้ไม่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากเงินเดือนประจำตำแหน่งที่กฎหมายเขาออกให้

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

จี้"ปู"ชี้แจงไฟใต้หวังเรียกความเชื่อมั่นดึงนักท่องเที่ยวกลับไทย


ที่รัฐสภา วันนี้ (5เม.ย.) นายเรวัต อารีรอบ ส.ส. ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุระเบิดใจกลางเมือง จ.ยะลา และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ต่างชาติมองประเทศไทยว่า อยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัวจึงเกรงว่า จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่ จ.ภูเก็ต เพราะแม้จะยังมีความปลอดภัยต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว แต่เมื่อข่าวออกมาเช่นนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ปัญหา ตนจึงได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งชี้แจงสถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศจากเหตุระเบิดในภาคใต้ เพื่อเร่งสร้างความน่าเชื่อถือ และรัฐบาลควรแจ้งต่อสถานฑูตต่างๆและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวประเทศไทยเหมือนเดิม

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

เฉลิมแจงกระทู้รับ 6 ข้อเสนอเยียวยาพื้นที่ภาคใต้


ที่รัฐสภา วันนี้ ( 5 เม.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ได้พิจารณากระทู้ถามสด เรื่องเหตุการณ์ระเบิดในจังหวัดยะลา ที่นายประเสริฐ  พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกรัฐมนตรีว่า  ตั้งแต่ ส.ค. 2554 - ก.พ. 2555  เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เกิดขึ้น 132  ครั้งหรือเพิ่มขึ้นถึง 35 % และเหตุการณ์ระเบิดที่ จ.ยะลาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศสร้างความเสียหายและผลกระทบทางจิตใจประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในการประชุมเพื่อหาทางเยียวยาที่จ.ยะลา เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับความเสียหาย 200-300 คนในพื้นที่ ได้มีข้อเสนอคือ 1.ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น   1.5  หมื่นบาท 2. งดเก็บภาษีจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ 3. ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย 1.5 % ในพื้นที่อย่างทั่วถึง 4.ทรัพย์สินที่เสียหายให้เยียวยาทุกบาทและให้รวดเร็ว  5. ชีวิตคนบาดเจ็บขอให้ได้รับการเยียวยากับกับกลุ่ม นปช. คือรายละ 7.59  ล้านบาท และ  6. มาตรการรักษาความปลอดภัยขอให้ทำเป็นเรื่องเร่งด่วน  อยากทราบว่ารัฐบาลจะรับไปดำเนินการตามที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่
พล.อ.ยุทธศักดิ์  ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า หน่วยงานในพื้นที่ทั้งด้านการข่าวและความมั่นคงได้ประสานงานกันต่อเนื่อง และมีการแจ้งเตือนเป้าหมายการก่อเหตุ ว่าจะเกิดพื้นที่ไหน เมื่อไหร่ แต่เป็นเพียงกรอบกว้างๆ  ในส่วนของพื้นที่ จ.ยะลา กอ.รมน.เคยจัดเขตพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน แต่ภาคธุรกิจประชาชนในพื้นที่ขอให้ทบทวนเพราะกระทบกับธุรกิจจึงได้มีการยกเลิกเซฟตี้โซน และทำให้เกิดช่องว่าง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเห็นควรมีแนวทางพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในพื้นที่ และเป็นการทำงานในเชิงรุกไม่ใช่แค่ตั้งรับเท่านั้น  และสร้างความปลอดภัยให้เกิดในชุมชนโดยให้ประชาชนในชุมชนเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่คอยสอดส่อง และเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำการจับกุมอาวุธมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันที่ 5 เม.ย.นี้จะประชุมเพื่อหาทางควบคุมเหตุระเบิดในพื้นที่ ทั้งที่มาของระเบิด ช่องทางก่อเหตุ และพื้นที่ล่อแหลม
นายประเสริฐ ถามต่อว่า ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกเซฟตี้โซน แต่เรียกร้องให้มีการทบทวน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เสนอแผนมาให้เลือก 4 แบบ และประชาชนในพื้นที่ได้เลือกแบบที่ 4 นอกจากนี้อยากถามว่าจากที่มีข่าวในเว็บไซต์ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯ ไปเจรจากับขบวนการผู้ก่อการที่ประเทศมาเลเซียนั้น แต่เจรจาไม่สำเร็จจนทำให้เกิดผลพวงเป็นเมื่อวันที่ 31 มี.ค. เหตุการณ์ยับเยินป่นปี้  จึงอยากถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไปเจรจาเรื่องอะไร
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ชี้แจงว่า จากข้อเสนอในพื้นที่ที่เสนอมาเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา ทั้ง 6 ข้อนั้น  ก็พร้อมที่จะรับฟัง  ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปัตตานี ยะลา หาดใหญ่ เป็นการก่อเหตุที่เป็นขบวนการ จากนี้จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการ บก.ส่วนหลังแก้ปัญหาในพื้นที่จะเชิญ ส.ส.ในพื้นที่ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ผู้นำฝ่ายค้าน ไปร่วมศึกษาแก้ปัญหา ซึ่งยอมรับว่าไม่อาย เพราะการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องร่วมมือทุกฝ่ายไม่สามารถปล่อยให้แก้ปัญหาตามลำพังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดๆได้ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์มีการวางแผน แต่ว่าคนทำกับคนระวังแตกต่างกัน คนจ้องจะก่อเหตุย่อมได้เปรียบ เหมือนมือปืนวันนี้ทำไม่สำเร็จก็ต้องมีสักวันที่เผลอ นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการอย่างที่ถูกระบุ
นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องที่ปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ไปเจรจากับขบวนการก่อเหตุนั้น มี ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ โอบกอดกับแกนนำพลูโลลงในเว็บไซต์ของพลูโล ร.ต.อ.เฉลิม น่าจะไปตรวจสอบ ไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ เวลานี้สถานการณ์ กลับตาลปัตรจากที่เจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายไล่ล่าผู้ก่อเหตุไม่สงบ กลับกลายเป็นผู้ก่อเหตุมาเป็นผู้ไล่ล่าเจ้าหน้าที่แบบกัดไม่ปล่อย  จนชีวิตเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดกำลังย่ำแย่  นอกจากนี้อยากถามว่า หลังเกิดเหตุในที่ประชุมครม.จริงหรือไม่ ที่นายกฯ รู้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณไปเจรจากับขบวนการผู้ก่อการร้าย และในการประชุมครั้งนั้นจะมีมาตรการนำไปสู่การแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร
ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไปเจรจากับขบวนการผู้ก่อการร้าย ส่วนข่าวที่ลงในเว็บไซต์พลูโลนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อไม่ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้สั่งให้ตำรวจตรวจสอบย้อนหลังว่า มีรถหายกี่คัน จักรยานยนต์หายกี่คัน เพราะเหตุการณ์คาร์บอมนั้น มาจากรถที่ถูกขโมยรวมทั้งจะหาทางควบคุมแก้ไขการใช้โทรศัพท์จุดชนวนระเบิด อีกทั้งให้ผู้บังคับการตำรวจแต่ละจังหวัดไปดูว่าจะป้องกันเหตุอย่างไรไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ตัวเองเท่านั้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอใช้สิทธิพาดพิงว่า การที่จะเชิญตนจะไปร่วมประชุม บก.ส่วนหลังนั้น ตนยินดีช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่ขอความมั่นใจว่าการไปทำหน้าที่ในรูปแบบใด เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 265 266 เรื่องการแทรกแซงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นห่วงว่าไม่เช่นนั้นจะถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ อยากให้นายกฯยิ่งลักษณ์มาร่วมประชุมด้วย เพราะว่าเรื่องพี่ชายของนายกฯ ที่ไปเจรจากับขบวนการก่อการร้าย ไม่ใช่แค่มีในเว็บไซต์เท่านั้น แต่ยืนยันตรงกันหลายทางซึ่งหากไม่แก้ปัญหาเรื่องพี่ชายของนายกฯเรื่องนี้ก็จะแก้ไขได้ยาก
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การเชิญฝ่ายค้านมาทำงานตรงนี้เพื่อบ้านเมือง เป็นการที่ตนเองกล่าวเชิญในสภา ให้มาร่วมทำงานด้วยกัน  ซึ่งไม่เป็นปัญหาในการทำหน้าที่ตนเองก็แม่นในรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญไม่เป็นการแทรกแซงเป็นการทำเพื่อชาติ ทำดี การแสดงความเห็นเป็นอดีตนายกฯ มีวิสัยทัศน์การเก็บข้อมูลในพื้ที่ส่วนหนึ่ง และเชื่อว่าสส.ประชาธิปัตย์ มีข้อมูลดีที่สุดไม่แพ้เจ้าหน้าที่ และยืนยันอีกครั้งจะไปกราบเรียนนายกฯให้ทราบ เพราะศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาชายแดนใต้ บก.ส่วนหลังนี้ คิดได้เมื่อเช้าตอนนั่งทานกาแฟที่บ้าน

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

“ปู”คาดโทษจนท.ปล่อยบึ้มสงกรานต์


วันนี้ (5 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง ว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้ ถ้าไม่ได้ถือว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ โดยจะดำเนินการทุกด้านทั้งการปราบปรามและพัฒนาตามนโยบายเข้าใจเข้าถึงพัฒนา โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานติดตามเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ขณะที่ตนรับผิดชอบดูแลเรื่องการพัฒนาโดยใช้คนท้องถิ่นให้มากที่สุด ซึ่งต้องประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงด้วย ซึ่งงานด้านการข่าวต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย คนปล้นบ้านกับเจ้าของบ้านเป็นเรื่องที่พูดยาก  นอกจากนั้นในวันที่ 28 เม.ย. นี้ ตนและนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเดินทางไปจัดดินเนอร์ทอล์ก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในพื้นที่ให้กลับคืนมา
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิดที่จ.ยะลา และจ.สงขลา ได้รับเงินเยียวยาที่เท่าเทียมกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองนั้น นายยงยุทธ กล่าวว่า ตนเห็นว่ามันคนละเรื่องกัน คงต้องมาพิจารณาทีละประเด็น การเยียวยาชุมนุมทางการเมืองสืบเนื่องมาจากผลของคอป.ส่วนเยียวยาเรื่องภาคใต้ก็มีคณะกรรมการอยู่แล้ว ซึ่งเหตุระเบิดครั้งนี้ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอีกคณะหนึ่ง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องไปศึกษาความเป็นไปได้อย่าเอาทุกอย่างมาผูกรวมกัน

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ปลัด สธ.ระบุเตรียมยกเลิกคำสั่งระงับจ่ายยาแก้หวัดซูโดฯ


ที่กระทรวงสาธารณสุข  วันนี้( 5 เม.ย.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเริ่มตื่นตระหนกเกรงว่าจะไม่มียาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนใช้ หลังจากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 และมีบางส่วนเริ่มหาซื้อเพื่อกักตุนว่า เรื่องนี้จะหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะหลังจากประกาศยกระดับยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนแล้ว ขณะนี้ยังมียาแก้หวัดสูตรผสมอื่นที่ใช้ทดแทนกันได้และมีประสิทธิ์ภาพในการรักษาเหมือนกัน ซึ่งเทียบเท่ากับยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน อย่างยาแก้หวัดสูตรผสมเฟนิลเอฟริน เป็นต้น ดังนั้นไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนก
“แม้จะมีประกาศยกระดับให้ยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีน แต่ถูกจำกัดเป็นยาควบคุม ซึ่งในกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ยา แพทย์ยังสามารถสั่งจ่ายเพื่อรักษาได้ เพียงแต่ต้องมีการรายงานเบิกจ่ายยา รวมถึงรายชื่อผู้ป่วย เช่นเดียวกับมอร์ฟีน” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ประชาชนบางส่วนเกิดความกลัว เพราะเข้าใจว่าการกินยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนที่ผ่านมาเป็นการกินยาบ้ายาเสพติดนั้น เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจเช่นกัน ซึ่งการจะนำยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนมาผลิตเป็นยาเสพติดนั้น ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการสกัดก่อน มีสูตรทางเคมีสกัด ไม่ใช่ว่าจะนำยาแก้หวัดมาใช้กินเป็นยาเสพติดได้เลย เรื่องนี้จึงเกิดจากความเข้าใจไม่ถูกต้องและต้องชี้แจง อีกทั้งในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และเกาหลี ยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนเหล่านี้ ล้วนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มยาสามัญทั่วไป หาซื้อได้ง่าย แต่บ้านเรามีการนำมาสกัดเพื่อเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดจึงต้องควบคุมเท่านั้น
ต่อข้อซักถามว่า หลังจากที่มีประกาศยกระดับให้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนเพื่อควบคุมการสั่งจ่ายยาแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการยกเลิกคำสั่งระงับการจ่ายยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้เลยหรือไม่ นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังคุยกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากประเด็นของการยกระดับการควบคุมการเบิกจ่ายยาแล้ว ยังต้องรอดูการตรวจสอบปัญหาการเบิกจ่ายยาแก้หวัดสูตรผสมสารซูโดอีเฟดรีนว่าขณะนี้นิ่งแล้วหรือยัง ต้องรอให้การตรวจสอบปัญหาการเบิกจ่ายยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเสร็จสิ้นลงก่อน เพราะหากให้มีการเบิกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่อาจเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ทุกอย่างน่าจะชัดเจน และสามารถยกเลิกคำสั่งระงับประกาศการเบิกจ่ายยานี้ได้ เมื่อถามถึงการรายงานสต็อกยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีน รวมถึงจำนวนที่คงอยู่ในสต็อกยาโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า เรื่องตัวเลขคงต้องไปถามจากทาง อย. แทน

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th