วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

ธุรกิจการบินตื่นตัวช่วยโลกลดมลภาวะ


บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรภาคการบิน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงชีวภาพและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพการบิน ระหว่าง 20-21 มีนาคมที่ผ่านมา หวังภาครัฐสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน
นาวาอากาศตรีอลงกต พูลสุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการบินไทย แนวคิดพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ มุ่งลดปัญหาสภาวะเรือนและภาวะโลกร้อน จึงเริ่มศึกษาแนวทางพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีการพูดคุยกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้  ที่ผ่านมาการบินไทยได้ร่วมมือกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  บริษัท โรล์สรอยซ์ จำกัด  บริษัท สกายเอ็นเนอร์ยี่ และบริษัท โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล จำกัด จัดเที่ยวบินพิเศษ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ทำการบินด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และวันที่ 22 ธันวาคม 2554 จัดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่ทำการบินเป็นเที่ยวบินแรกในเอเชีย เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ภาครัฐร่วมสนับสนุน ทั้งในด้านการส่งเสริม การลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ จัดตั้งหน่วยงานกลางทำหน้าที่รับผิดชอบและผลักดันการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นภายใน 5 ปี
โดยแนวทางในการพัฒนาเชื้อเพลิงดังกล่าว จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่จะทำให้เกิดผลผลิตของพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ได้จากพืชพรรณต้องไม่ไปเบียดบังพื้นที่การเกษตรสำหรับอาหาร หากสำเร็จจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านของต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นทุกปี ถ้าไทยสามารถผลิตพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพเองได้ แม้จะในอัตราส่วนไม่มาก แต่จะช่วยให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยลงแน่นอน
สำหรับพันธมิตรภาคการบินที่ร่วมสัมมนาได้เผยนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร เช่น สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา มีโครงการเน็กเจน เพื่อลดมลภาวะทางเสียงรอบสนามบินจากการบินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มรูปแบบวิทยาศาสตร์การบินให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังศึกษาเชื้อเพลิงชีวภาพชนิดใหม่ๆ ภายใต้เงื่อนไขวัตถุดิบต้องก่อให้เกิดคาร์บอนในระดับต่ำ
ขณะที่ โบอิ้ง ระบุว่า ได้ปรับเปลี่ยนการสร้างเครื่องบินให้สามารถประหยัดได้ 25-30% ส่วนยูไนเต็ดแอร์ไลน์ หันใช้พลังงานสังเคราะห์ ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ลงทุนซื้อเครื่องบินรุ่นประหยัดพลังงาน และหมุนเวียนวัสดุที่ใช้บนเครื่องบิน.

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น