วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

เมื่อถนน "ปรองดอง" ตัดผ่าน "บ้านสี่เสา" ทางกลับบ้านที่ "ทักษิณ" สร้างเองกับมือ


“การเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่สภาจะทำได้เมื่อใดนั้น ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากทำให้เร็ว แต่ไม่ได้ขีดเส้นยึดติดว่าต้องทำเสร็จภายใน 3-4 เดือน เพียงแต่ต้องดูบรรยากาศทางการเมือง จังหวะเวลาที่เหมาะสมโดยในวันที่ 26 เม.ย.เวลา 15.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง และพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ จะได้เดินทางไปรดน้ำขอพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็อาจจะขอถือโอกาสนี้ได้กราบเรียนขอคำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองในชาติให้เกิดขึ้นด้วย”

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา

การเข้าพบเพื่อ ’รดน้ำ“ จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถือเป็นเรื่องปกติของแทบจะทุกรัฐบาลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาพึงทำกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่หากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 49 ภายหลังชัยชนะของพรรคพลังประชาชนที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ให้การสนับสนุน อาการ “เหินห่าง” ระหว่างรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณให้การสนับสนุนกับผู้อาศัยภายในบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ก็มี “ช่องว่าง” มากขึ้น

ยิ่งเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 52-53 ยิ่งชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายกับพล.อ.เปรมนั้น “รุนแรง” ขึ้นตามลำดับ ผ่านคำพูดมากมายในโอกาสต่าง ๆ อาทิ ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร เรื่อยไปจนกระทั่งเกิดการ “ขับไล่” ให้พ้นจากตำแหน่งซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการเรียกร้องในครั้งนั้น

แต่ “สัญญาณ” ล่าสุดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งออกมาท่ามกลางเครือข่ายระหว่างร่วมงาน “สงกรานต์” ที่ประเทศกัมพูชา ด้วยการปฏิเสธการเป็น “คู่กรณี” หรือมีความขัดแย้งใด ๆ กับ พล.อ.เปรม

“สัญญาณ” ที่ว่าเมื่อมาประกอบกับภาพรดน้ำของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.และภาพการพบกันถึง 2 ครั้งระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พล.อ.เปรม ยิ่งเป็น “สัญญาณ” ที่สะท้อนถึงความเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การปรองดองซึ่งกำลัง “ตั้งเค้า” ขึ้นมาได้เป็นอย่างดี

แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้พูดว่าจะ “ทำตาม” ข้อเสนอของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ ที่เสนอให้ทั้งสองคนคุยกันเพื่อสร้าง “บรรยากาศ” ของการปรองดองให้ดีขึ้น แต่ การกระทำย่อมมีความหมายมากกว่า คำพูด มากมายนัก

หรือนี่จะใช่กระบวนการสร้างความปรองดองในความหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้เกิดขึ้นหรือไม่

เชื่อว่า “ภาพดังกล่าว” จะเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนวงกว้างและจะนำไปสู่การ “ตีความ” ต่าง ๆ นานาต่อไป จะเป็นผลดีหรือเป็นผลเสียอย่างไรนั้น เป็นเรื่องยากจะประเมิน แต่อย่าลืมว่า ความปรองดองที่ทุกฝ่ายต้องการให้เกิดขึ้นนี้ เป็นการต่อสู้กันระหว่าง

ฝ่ายหนึ่งคือเสียงข้างมาก กับอีกฝ่ายคือเสียงข้างน้อย

“เสียงข้างมาก” วันนี้สามารถ “ควบคุม” ปัจจัยที่เอื้ออำนวยทางการเมืองไว้ได้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการ “จัดวาง” ฐานกำลังทางการเมืองผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายทั้งราชการทั้งรัฐวิสาหกิจในระดับต่าง ๆ การควบคุมกลไกอย่างตำรวจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะเดียวกันความที่เป็นรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับในผลงาน มิหนำซ้ำนับวันปัญหา “สารพัดของแพง” ก็จะยิ่งสร้างคำถามและความนิยมให้กับรัฐบาลมากขึ้น แต่ด้วยการวางยุทธศาสตร์ที่เน้นการ “อยู่ห่าง” ทางการเมือง ประกอบกับรูปลักษณ์ที่สวยงาม อย่างน้อยก็ยังสร้างความรู้สึกได้ว่า ไม่เข้ามาเล่นการเมืองแต่มุ่งตั้งใจแก้ปัญหามากกว่า เพราะอย่างน้อยการไม่ได้ทำ กับการทำแล้วไม่ได้ ย่อมแตกต่างกัน

ยิ่งในรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ยิ่งชัดเจนว่า “เสียงข้างมาก” ควบคุมเบ็ดเสร็จ ดังจะเห็นได้จากการผ่านรายงานการสร้างความปรองดองแห่งชาติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.เพื่อมายก
ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

ขณะที่ “เสียงข้างน้อย” แม้วันนี้จะอยู่ในฝ่ายที่ “เสียเปรียบ” แต่ด้วยจุดยืนที่ว่าต้องการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการปรองดองเช่นกัน แต่กระบวนการนั้นต้องเป็นไปตาม “หลักการ” นั่นคือ อะไรก็ตามที่ศาลตัดสินไปแล้วต้องอยู่อย่างนั้น “ยกเลิก” หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนกว่าผู้กระทำจะยอมรับโทษเสียก่อน

สถานการณ์วันนี้ “เสียงข้างน้อย” นอกสภาอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ออกมาแล้ว และมี “จุดยืน” ที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่กลุ่มพันธมิตรฯ นั้นไปไกลด้วยการประกาศจะเดินหน้า “ปฏิรูปประเทศไทย” ขึ้นมาแทนที่

จำนวนมากหรือจำนวนน้อย ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ในวันนี้อาจจะไม่ใช่ “ตัวตัดสิน” เพราะหากมองกันให้ดี ๆ จะพบว่า ยังมี “พลังเงียบ” หรือคนส่วนมากที่พร้อมจะแสดงออกอีกจำนวนมาก หากการปรองดองนั้นเป็นการปรองดองเพียงเพื่อให้ “คนใดคนหนึ่ง” ได้รับผลหรือ “ลบล้างความผิด” ในครั้งนี้

การช่วงชิง “มวลชน” ที่อยู่ตรงกลาง จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก

ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการออกกฎหมายปรองดอง หากใครคนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มใดกระทำการหรือมีการชุมนุมจนถึงขั้นรุนแรงเหมือนอย่างที่ผ่าน ๆ มา และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด จะเข้าเงื่อนไขนำไปสู่ความปรองดองอย่างที่ถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้หรือไม่ และหากมีการ “เสียชีวิต” จะได้รับการเยียวยาเหมือนอย่างที่กำลังจะถูกเยียวยาอยู่ในเร็ว ๆ นี้หรือไม่

เพราะมองว่า หากการปรองดองคือเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องลืม ๆ กันไปแล้วเริ่มต้นใหม่โดยไม่สนใจที่จะค้นหาความจริงเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข การปรองดองก็ไม่ต่างอะไรกับเทศกาลที่ทำกันภายหลังเกิดความรุนแรงทางการเมือง

ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของเสียงข้างมากอย่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และการเคลื่อนไหวของเสียงข้างน้อยอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ ล้วนมี “ทิศทาง” ที่ไปในลักษณะมุ่งเข้าหามวลชน เพื่อความเข้าใจ เพื่อสร้าง “ชุดข้อมูลใหม่” ให้เกิดขึ้น

ฉะนั้น “บันไดขั้นที่ 2” ของการปรองดองเพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงมี “ปัจจัย” ของการยอมรับจากมวลชนเป็นฐานสำคัญ

ต่างฝ่ายจึงต่างต้องแสดงท่าที โดยมี “มวลชน” ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ “ทุกอย่าง” กลับไปก่อนเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย. 49 เหมือนอย่างที่ “เสียงข้างมาก” กำลังทำอยู่ในตอนนี้ หรือ ปล่อยให้ทุกอย่างเดินต่อไป แต่ควรจะต้องแยกแยะให้ได้ว่า อะไรถูกหรืออะไรผิด ใครถูกหรือใครผิด ใครควรได้รับการให้อภัย หรือใครควรได้รับการลงโทษ โดยทั้งหมดเป็นไปตามหลัก “กฎหมายไทย”

การเผชิญหน้ากันในระยะนี้ จึงเป็นแค่ ’สงครามเย็น“ เท่านั้นเอง.

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น