วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วารานัส โกอินเตอร์ - เกษตรทั่วไทย






มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ที่นั่นมี “ฟาร์มวารานัส” โดยคุณสมโภชน์ ทับเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  

คุณสมโภชน์ กล่าวว่า “วารานัส” เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ของสัตว์กลุ่มหนึ่ง มีหลากหลายชนิด ตัวอย่างที่รู้จักกันดีในบ้านเรามี 4 กลุ่มย่อย คือ คือ ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง ตะกวด และเหี้ย เรื่องการก่อตั้งฟาร์มวารานัสนี้ เกิดจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์) เล็งเห็นว่าเหี้ยหรือตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ที่ควรค่าแก่การศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพัฒนาให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อส่งออกต่างประเทศ จึงมอบหมายให้สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ ริเริ่มตั้งฟาร์มวารานัสขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
ที่ฟาร์มวารานัสของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาและวิจัยเน้นไปที่เหี้ย ยังไม่เน้นตะกวด หรือวารานัสตัวอื่น ๆ ก็เพราะคิดว่ามีอนาคต หรือมีเส้นทางเศรษฐกิจที่สุด จากการที่มีรายงานการค้าหนังของวารานัสในต่างประเทศในปี ค.ศ. 1975 มีการขายหนังวารานัส จำนวน 51,290 แผ่น การล่าจากธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในปี ค.ศ. 1990 มีการซื้อขายหนังวารานัส ประมาณ 3 ล้านแผ่น หนังเหล่านั้นเป็นหนังของเหี้ย มากกว่า 2,500,000 แผ่น และเหี้ยมีชีวิตถูกขายไปประมาณ 70,000 ตัว ส่วนเนื้อมีรสชาติเหมือนเนื้อไก่แต่เหนียวนุ่มอร่อยกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็นสาบเหมือนสัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิด ไม่มีมันแทรกในกล้ามเนื้อเนื่องจากมีอวัยวะที่มีลักษณะเป็นแผ่นเก็บไขมันในช่องท้องแยกต่างหาก
มีรายงานจากเอกสารต่างประเทศกล่าวว่าน้ำมันเหี้ยนำมาใช้ทำยาทานวดแก้อาการเคล็ดขัดยอกได้เป็นอย่างดี ตับทำเป็นยารักษาโรคได้หลายโรค หนังมีลวดลายดอกสวยงามและมีเกล็ดละเอียด คุณภาพของหนังเหนียวและยืดหยุ่นได้ดี เกิดรอยขีดข่วนยาก กระเป๋า และรองเท้าบู๊ต ที่ทำจากหนังของเหี้ยราคาหลายหมื่นบาท ใช้แล้วทนทานคุณสมโภชน์ กล่าวสรุปถึงการทำฟาร์มวารานัสเป็นอาชีพ ว่า น่าจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ และคาดว่าจะทำรายได้เป็นอย่างดี ตลาดต่างประเทศยังต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ตัวนี้จำนวนมาก ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของประเทศไทยนั้น เหี้ยเป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่ 1 คือ ห้ามล่า ห้ามฆ่า ในอนาคตต้องทำให้เป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่สามารถเพาะเลี้ยงได้เช่นเดียวกับจระเข้ ไก่ฟ้า และงูบางชนิด คือต้องขออนุญาตทำฟาร์มเป็นราย ๆ ไป 
และจากการศึกษาพื้นฐานพบว่าเหี้ยเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนหลายสิบปี ตัวเมียตัวหนึ่ง จะผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายตัวในแต่ละครั้ง โดยตัวเมียจะเป็นผู้เลือกตัวผู้เอง เมื่อออกไข่แล้ว ใช้เวลาฟักประมาณ 70 วัน  เป็นสัตว์ไม่มีสังคม ไม่มีหัวหน้าฝูง ไม่มีพี่ ไม่มีน้อง รักสงบและสันโดษ แต่ไม่ทำร้าย ไม่กัดกัน มีการต่อสู้กันเฉพาะในฤดูผสมพันธ์ุเท่านั้น การต่อสู้ก็เป็นเพียงปล้ำและทุ่มกันด้วยกำลัง ตัวที่แพ้ก็วิ่งหนีไปในขณะที่ตัวชนะก็ไม่ได้ตามไปซ้ำเติมอีก 
การนำมาเลี้ยงรวมกันมาก ๆ ในพื้นที่จำกัดทุกตัวก็ยังคงอยู่กันด้วยความสงบแถมยังช่วยเหลือกัน ถ้อยที ถ้อยอาศัยซึ่งกันและกันซะอีก เหี้ยต่างถิ่น (มาจากจังหวัดต่าง ๆ) เมื่อนำมาเลี้ยงให้อยู่รวมกัน ปรากฏว่า ไม่มีการแยกพวก ไม่ยกพวกตีกัน ในธรรมชาติจะต่างตัวต่างอยู่ก็จริง แต่เกื้อกูลกัน ทุกตัวเป็นเพื่อนกันหมด เวลาให้อาหาร บางตัวมาช้า อาหารหมด ก็เฉย รับสภาพว่าอาหารหมดแล้ว ไม่มีทะเลาะกัน ไม่แย่งหรือทำร้ายตัวที่กำลังคาบอาหารอยู่
ผู้สนใจเกี่ยวกับการทำฟาร์มวารานัส  ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-3559- 8448 อีเมล prucdku@gmail.com  ในวันและเวลาราชการ.
kasettuathai@dailynews.co.th

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น