วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พท.ลากไส้กทม.ต่อสัญญาบีทีเอส


วันนี้ ( 14 พ.ค.) เวลา 15.30 น.ที่รัฐสภานายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.) ต่อสัญญาการเดินรถไฟฟ้าผ่านบริษัทกรุงเทพ ธนาคม (เคที) ให้บีทีเอสหรือบีทีเอสซี เป็นเวลา 13 ปี ทั้งที่ยังเหลือสัญญาอีก 17 ปี ว่า การต่อสัญญาดังกล่าว นอกจากทำให้บีทีเอสผูกขาดการเดินรถแล้ว ยังทำให้กทม.เสียค่าโง่อีก 6,472 ล้านบาทที่ต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยให้บีทีเอสที่ต้องสูญเสียรายได้ในเส้นทางที่เป็นส่วนต่อขยายการเดินรถที่ผู้ได้รับสัมปทานมักจะขาดทุน แต่ขณะเดียวกันจากเส้นทางส่วนต่อขยายสาธร-ตากสิน วงเวียนใหญ่-บางหว้า กทม.เป็นผู้ลงทุน 100 เปอร์เซ็นต์และ กทม.บอกว่าจะทำให้บีทีเอสซี มีกำไรถึง 1.9 แสนล้านบาทจากการขยายอายุสัญญา เหตุใด กทม.จึงไม่เจรจาต่อรองกับบีทีเอสซีว่าไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย 6,472 ล้านบาทได้หรือไม่แล้วนำเงินส่วนนี้มาทำประโยชน์ให้กับคนกทม.แทน จึงเห็นว่าเป็นการต่ออายุสัญญาที่ กทม.เสียเปรียบอย่างมาก
“นอกจากนี้แสดงให้เห็นถึงความลุกลี้ลุกลนในการต่อสัญญา เพราะเงิน 6,472 ล้านบาทต้องจ่ายให้บีทีเอส ไม่ได้ใช้งบประมาณรายจ่ายปกติของกทม.ปี 2555 แต่เป็นการตั้งข้อบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมมาจ่ายค่าชดเชย โดยเงินคงคลังของกทม.ที่อาจเข้าข่ายผิดระเบียบ เพราะการใช้เงินคงคลังของ กทม. ต้องใช้ในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน เช่น เกิดภัยพิบัติหรือน้ำท่วมเท่านั้น จึงไม่สามารถนำมาใช้ในกรณีนี้ได้  ขอเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงว่าเห็นด้วยกับการต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าของม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ หากไม่ชี้แจงแสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังลอยแพม.ร.ว.สุขุมพันธ์” นายยุทธพงศ์ กล่าว
จากนั้นนายยุทธพงศ์ และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นเรื่องต่อนายปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการตรวจสอบสัญญา 2 ส่วนคือ 1.สัญญาที่กทม.จ้างบริษัทกรุงเทพ ธนาคม (เคที) เป็นผู้บริหารระบบขนส่งมวลชนกทม. และ2.สัญญาที่เคทีทำกับบีทีเอสในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า จะนำเรื่องที่กทม.ต่อสัญญาการเดินรถไฟฟ้าให้บีที ไปยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 15 พ.ค. เพื่อตรวจสอบความโปร่งใส และวันที่ 16 พ.ค.จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ส่วนวันที่ 17 พ.ค.ยื่นหนังสือต่อรมว.มหาดไทย ให้ตรวจสอบว่าการทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวของกทม.ต้องขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยก่อนหรือไม่.

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น