วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

“ถวิล” ลั่นเตรียมฟ้องศาลปกครองโดยด่วน


เมื่อเวลา 13.00 น. (11 เม.ย.) ทีทำเนียบรัฐบาล นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชประจำ ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงถึงกรณีที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม( ก.พ.ค.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ยกคำร้องทุกข์ที่ นายถวิล ร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม โดยก.พ.ค.ให้เหตุผลว่าคำร้องทุกข์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้นว่า ก่อนหน้านี้ตนเชื่อมั่นในก.พ.ค. เพราะ1.เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องร้องทุกข์ทางวินัยของข้าราชการประจำ 2.คณะกรรมการก.พ.ค.เป็นข้าราชการเก่าเข้าใจความรู้สึกของข้าราชการดี 3.ก.พ.ค.แต่งตั้งขึ้นเมื่อปี51 ซึ่งกรณีของตนถือว่าเป็นกรณีแรกๆที่พิจารณาจึงมั่นใจว่าก.พ.ค.จะดูแลให้ความเป็นธรรมและสร้างมาตรฐานคุณธรรมระบบข้าราชการฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำให้มีศักดิ์ศรีและต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกันได้ เมื่อผลวินิจฉัยของก.พ.ค.ออกมาเป็นเช่นนี้ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ตนจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นภายใน 90 วัน เพื่อขอความเป็นธรรม
นายถวิล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนขอตั้งข้อสังเกตในกระบวนการและขั้นตอนการวินิจฉัยของก.พ.ค.ที่ได้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ชุดที่ 2 ซึ่งเป็นชุดเล็ก ประกอบด้วยคณะกรรมการ3คน โดยหนึ่งในนั้นมีนายศราวุธ เมนะเศวต ประธานกรรมการ ก.พ.ค.มาทำหน้าที่เป็นประธานชุดเล็กด้วย โดยคณะกรรมการ2ใน 3 เห็นว่าคำร้องของตนฟังขึ้นว่าตนถูกกลั้นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรม การโยกย้ายตำแหน่งเลขาธิการสมช.ของตนในขณะนั้น เพื่อต้องการให้ตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่างลง เพราะต้องการให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นมาทำหน้าที่ผบ.ตร. ส่วนเสียงข้างน้อยคือนายศราวุธมีความเห็นว่าคำร้องฟังไม่ขึ้นเพราะเป็นการอ้างคำพูดของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นผู้พูด จึงนำมาพิจารณาไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม
นายถวิล กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นที่คณะกรรมการชุดเล็กได้ส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการก.พ.ค.ชุดใหญ่ เพื่อลงความเห็น โดยที่ประชุมคณะกรรมการก.พ.ค.ชุดใหญ่จำนวน 6  คน ประกอบด้วย นายศราวุธ นางจรวยพร ธรณินทร์ นายภิรมย์ ศรีจันทร์ นายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล นายภิรมย์ สิมะเสถียร และน.ส.ทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ ได้มีมติ 3ต่อ 3 เสียง จนทำให้นายศราวุธซึ่งเป็นประธานก.พ.ค.ต้องลงคะแนนตัดสินชี้ขาดอีกครั้งเท่ากับในการประชุมคณะกรรมการก.พ.ค.ชุดใหญ่ นายศราวุธลงคะแนนถึงสองครั้ง  ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในกรณีนี้ประธานมีสิทธิออกเสียงหรือไม่ ครั้งนี้ตนรู้สึกว่าถูกจับแพ้ทางเทคนิค
“เมื่อเป็นเช่นนี้ผมเห็นว่าถ้าการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่มีข้อจำกัด ต่อไปข้าราชการจะไม่มีทางร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมได้ หากกรณีของผมไม่ถูกเรียกว่าถูกกลั้นแกล้งแล้วจะมีกรณีของข้าราชการคนใดบางที่ได้รับความเป็นธรรม  ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้จะหวังให้ระบบราชการเป็นกลไกพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างไร นอกจากทำให้กลายเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายการเมืองที่จะจัดการอย่างไรก็ได้ ทั้งนี้ระบบข้าราชการที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่จะเต็มไปด้วยการวิ่งเต้น ฉ้อฉล และแสวงหาผลประโยชน์ด้วยมิชอบ ผมอยากฝากถึงคณะกรรมการก.พ.ค.ว่าผมมีสิทธิ์ วิพากษ์วิจารณ์เพราะมีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องศาลปกครองและจะไปให้เร็วภายใน 90 วันเพราะมั่นใจว่าศาลปกครองจะให้ความเป็นธรรมได้ มันเป็นเรื่องตลกที่ย้ายผมโดยอ้างว่าได้ทำงานบริหารราชการแผ่นดินในระดับนโยบายที่เหนือกว่าตำแหน่งเดิม  แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ทำงานในเชิงนโยบายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองเลย การลงโทษด้วยการย้ายมาเป็นที่ปรึกษาควรยกเลิก ถ้าผมทำผิดก็ต้องสอบสวนและเอาออก แต่หากทำถูกต้องก็อย่ามารังแกกัน ถ้าถามผมว่าบู๊อย่างนี้แล้วจะทำงานร่วมกันกับนายกรัฐมนตรีต่อไปได้หรือไม่นั้น ผมเป็นมืออาชีพพอ ความไม่พอใจ ความรักความชอบทางการเมืองยอมรับว่ามี แต่ยืนยันไม่นำมาปนกับงานของผมแน่นอน” นายถวิล กล่าว
เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับการทำงานของสมช.ในขณะนี้ นายถวิล กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วง เกรงว่าจะมีการแทรกแซงการทำงานจากภายนอก แต่ไม่ห่วงมืออาชีพที่ทำงานอยู่ในนั้น เพราะทุกคนได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทำงานได้ทุกเรื่องจึงไม่จำเป็นต้องมีคนนอกเข้ามาเป็นเลขาธิการสมช.หรือรองเลขาธิการสมช.
 

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น