วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

กสทช.'ลับดาบฟันทีวีดาวเทียมโฆษณาเกินจริง


เตรียมฟันโฆษณา “อาหารและยา” อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงใน “ทีวีดาวเทียม- เคเบิลทีวี-วิทยุชุมชน” กสทช.เล็งเซ็นเอ็มโอยูกับ 3 หน่วยงาน ระหว่างยังไม่มีการออกใบอนุญาต พร้อมบุกไทยคม ขอความร่วมมือให้แจ้งเตือนผู้เช่าช่องรายการระงับโฆษณาผิด ก.ม.
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้ข้อสรุปว่าจะมีการเซ็นบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ในการกำกับดูแลการโฆษณาและเผยแพร่การออกอากาศผลิตภัณฑ์และสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน  คาดว่าจะร่วมลงนามกันได้ช่วงกลางเดือน พ.ค. ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเอ็มโอยูและเสนอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.
“ปัจจุบัน กสทช.ยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมโฆษณาและเนื้อหาของรายการได้  เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต และหลักเกณฑ์การกำกับดูแล  ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตได้ในช่วงไตรมาสที่ 3  ทำให้ในปัจจุบันช่องรายการทีวีดาวเทียมที่มีประมาณ 400 ช่อง เคเบิลทีวีกว่า 1,000 ช่อง และวิทยุชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงดาวเทียมไทยคมซึ่งเป็นผู้ให้เช่าช่องรายการทีวีดาวเทียม  ยังไม่ใช่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.  ระหว่างนี้จึงได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แจ้งเตือนและระงับการโฆษณา หากทาง อย. ได้แจ้งข้อมูลช่องรายการที่มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายไปให้กับทางไทยคม”
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. เตรียมที่จะเดินทางไปหารือกับผู้บริหารของดาวเทียมไทยคมด้วย การเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างร้ายแรง ในอนาคตเตรียมพิจารณาถึงเนื้อหาอื่น ๆ เช่น ลามกอนาจาร และการเมืองด้วย อย่างไรก็ตามระหว่างที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์การกำกับดูแลนั้น การโฆษณาและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์และสินค้าต่าง ๆ ในทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และวิทยุชุมชนจึงขอให้ยึดหลักเกณฑ์และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.  2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฯลฯ หากทาง อย. และ สคบ. ชี้แล้วว่าผลิตภัณฑ์โฆษณาเกินจริงผิดกฎหมายสถานีต่าง ๆ ไม่สามารถนำออกอากาศได้เพราะเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37.

แหล่งที่มา : www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น