วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตรวจแท็บเล็ตป.1ติดเงื่อนไขปลั๊ก 3 ขา






ตรวจสเปกแท็บเล็ตป.1 แล้ว 2,000 เครื่อง กรรมการตรวจรับติงปลั๊ก 2 ขา ขัดเงื่อนไขจัดซื้อ กำหนดต้องมีระบบสายดิน 3 ขา
ตรวจสเปกแท็บเล็ตป.1 แล้ว 2,000 เครื่อง กรรมการตรวจรับติงปลั๊ก 2 ขา ขัดเงื่อนไขจัดซื้อ กำหนดต้องมีระบบสายดิน  3 ขา

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงประเด็นปลั๊กแท็บเล็ตป.1ในโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) หรือ โครงการจัดหาแท็บเล็ตเด็กป.1 กับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ว่า กรณีเรื่องระบบสายดินที่ระบุในทีโออาร์ (เงื่อนไขการจัดซื้อ) ต้องรอให้คณะกรรมการตรวจรับและตรวจสอบสเปกแท็บเล็ตป.1 พิจารณา

“เรื่องที่ระบุในทีโออาร์เกี่ยวกับเรื่องของระบบสายดินต้องดูจากเจตนา ซึ่งในประเทศไทยตามข้อเท็จจริงแล้วปลั๊กที่เป็นยี่ห้อที่นิยมในประเทศไทยก็ใช้แบบ 2 ขา อย่างไรก็ตามรอรายงานจากคณะกรรมการตรวจรับและตรวจสเปกพิจารณาแล้วส่งรายงานสรุปมาอีกครั้ง”

ทั้งนี้ สโคปได้ส่งแท็บเล็ตป.1 จำนวน 2,000 เครื่องแรกมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับและตรวจสเปกได้ตรวจสอบแล้วเมื่อวันที่ 26-27 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยปลั๊กสายไฟของทุกเครื่องเป็นแบบ 2 ขา ทว่าเงื่อนไขความต้องการทั่วไปของระบบที่ทำไว้ในสัญญาระบุว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตต้องสามารถนำมาใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับตามมาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทยในช่วงตั้งแต่ 190-240 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิรตซ์ 1 เฟส พร้อมระบบสายดิน (190-240 VAC 50 Hz single phase with ground system)” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการที่ปลั๊กจะมีระบบสายดินต้องมี 3 ขา แต่แท็บเล็ต 2,000 เครื่องที่ส่งมาเป็นปลั๊ก 2 ขา

และถ้าคณะกรรมการตรวจรับสเปกตรวจให้ผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำสัญญาให้สโคปผลิตแท็บเล็ต 4 แสนเครื่องเพื่อส่งมอบให้ไทยในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้สโคปผลิตแท็บเล็ตที่มีปลั๊กแบบ 2 ขา ดังนั้นสิ่งที่ต้องชัดเจนคือ ไอซีทีจะแก้ทีโออาร์ให้ปลั๊กไม่มีระบบสายดินหรือไม่? เพื่อทำให้สเปกที่สโคปส่งมาและทีโออาร์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะปลอดภัยกับคณะกรรมการตรวจรับและตรวจสเปก และเป็นไปตามประกันภัยที่ทำไว้ตามสัญญาที่ระบุว่าหากเครื่องแท็บเล็ตเกิดอะไรขึ้นจะได้รับเงินประกัน 200,000 บาท/เครื่อง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น