วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พันธมิตรฯ บุกยื่นหนังสือล้มกฏหมายปรองดอง





แกนนำพันธมิตรฯ "จำลอง-สนธิ"บุกยื่นหนังสือล้มกฏหมายปรองดอง แจ้งรายละเอียดยิบ 4 ข้อ เอื้อประโยชน์ให้บางคน
เมื่อเวลา 16.10 น. วันที่ 30 พ.ค. ที่รัฐสภา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายประพันธ์ คูณมี ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้หยุดยั้งการตรากฎหมายล้างความผิดให้กับนักการเมือง

ทั้งนี้นายเจริญ ได้เดินทางออกมายังบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับหนังสือดังกล่าว โดยระหว่างที่ยืนรอรอแกนนำพันธมิตรฯ อยู่นั้นปรากฏว่าได้ถูกกลุ่มพันธมิตรโห่ไล่ พร้อมต่อว่านายเจริญ อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเหตุใด ไม่ไปรับหนังสื่อภายในอาคาร เพราะปลอดภัยกว่า นายเจริญ กล่าวว่า เป็นเงื่อนไขของแกนนำพันธมิตรฯ ต้องการให้รับหนังสือตรงจุดดังกล่าว โดยมีกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา  น.ส.สุมล สุตวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายสาย กังกะเวคิน ส.ว.ระยอง เป็นผู้ประสานงาน
   
สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการที่พันธมิตรตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง พบว่ามีปัญหาในหลายประเด็น คือ 1.เป็นร่างกฎหมายที่มุ่งหวังแต่จะลบล้างความผิดของบุคคลต่าง ๆ ในอดีต ทั้งที่บางคดีมีคำพิพากษาของศาลฎีกาจนถึงที่สุดแล้วจะตอกลิ่มสร้างความแตกแยกในหมู่คนในชาติให้เลวร้ายลงไปยิ่งกว่าเดิม

2.กฎหมายฉบับนี้ มีสภาพบังคับที่ไร้ขอบเขต ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนี้ การบัญญัติที่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูป ก็มีความไม่ชัดเจน และกินความกว้าง ครอบคลุมกระทบไปถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไม่มีข้อจำกัด

3.มีการก้าวล่วงไปถึงการล้มล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบการถ่วงดุลตรวจสอบของศาลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

4.ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายคนยังได้รับประโยชน์โดยตรงจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว และ 5.พ.ร.บ.ปรองดองเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา จึงขอให้ระงับ หยุดยั้งการพิจารณาหรือการให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติทุกฉบับ
             
นายเจริญ กล่าวภายหลังรับข้อเรียกร้องว่า ขณะนี้ ส.ส.ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมาแล้วและจะต้องบรรจุเป็นวาระ ส่วนจะมีการเลื่อนวาระการประชุมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา เพราะหากพวกตนไม่นำ พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การประชุม ตามที่ได้มีผู้เสนอก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นในการประชุมในวันที่ 30 พ.ค. ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็จะมีการอภิปรายในที่ประชุม

เมื่อถามว่า หากที่ประชุมเห็นว่าควรที่จะเลื่อนวาระการประชุมขึ้นมาเป็นวาระที่ 1 ในวันที่ 31 พ.ค. จะทำให้ผู้ชุมนุม ไม่พอใจและบักหลักค้างคืน และยังจะประชุมต่อหรือไม่ นายเจริญ กล่าวว่า การประชุมยังคงต้องเดินต่อไป เพราะในสภา ยังมีการประชุมหลายเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง เท่านั้น และยังมีทางที่สามารถเข้าออกสภาได้อยู่ ซึ่งไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะยังถือว่าผู้ชุมนุมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ตามระบอบประชาธิปไตย จึงเชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น