วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เอาเปรียบ





เจอ.สภาพ ’อากาศร้อนจัด“ มานาน แต่พอเริ่มสัมผัสความเย็นจากฝนที่ตกถี่ในช่วงนี้ ก็ทำเอาผมเองต้องตกอยู่ใน “ภาวะวิตกจริต” ได้เหมือนกัน เพราะปีที่แล้วต้องกลายสภาพเป็น “ผู้ประสบภัย” หนีการไล่ล่าจากมวลน้ำก้อนใหญ่ มาถึงวันนี้ก็ยังมีร่อง
รอยความเสียหายปรากฏให้เห็น เพื่อเตือนความทรงจำให้รู้ว่า อย่าวางใจกับ “ภัยธรรมชาติ” หรือการทำงานของภาครัฐ

เพราะที่บอกว่า ’เอาอยู่“ แต่จริง ๆ แล้วคือ คนไทยเกินครึ่งประเทศ ต้องอยู่กับน้ำเป็นแรมเดือน และที่น่าเจ็บใจมากกว่านั้น มาถึงวันนี้ เรายังได้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับ ’สิ่งของบริจาค“ ที่ผู้มีจิตศรัทธานำมามอบให้ชาวบ้านผู้ประสบภัย

เมื่อไม่นานมานี้ “นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรครักประเทศไทย นำสื่อมวลชนไปตรวจสอบ “ของบริจาค” ซึ่งถูกเก็บไว้ที่อาคารรัฐสภา ทั้ง ๆ ที่ผ่านช่วงเกิดอุทกภัยมาได้นานพอสมควร   ตามข่าวที่ปรากฏออกมาว่า ชาวบ้านนำมามอบให้กับ “นายเจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า งานนี้มี ’ใครอม“ หรือใครคิดหาประโยชน์บน ความเดือดร้อนของประชาชน

ดูเหมือนจะมีคำชี้แจงทำนองว่า ผู้มีจิตศรัทธานำสิ่งของมามอบให้ หลังจากน้ำลดไปแล้ว ฟังดูแล้วก็ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลสักเท่าไหร่ อย่าลืมว่า ปัจจุบันนี้ สื่อรูปแบบต่าง ๆ ผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด เป็นไปได้หรือที่จะมีคนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองบ้าง...น่าเสียดายที่ “ขบวนการตรวจสอบ” ไม่เอาจริงเอาจัง เราเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

พูดถึงเรื่อง “ของบริจาค” ช่วง ’เกิดมหาอุทกภัย“ ยังมีตำนานเล่าขานกันไม่จบไม่สิ้น ไล่ตั้งแต่ นักการเมืองนำชื่อไปติดไว้  ใช้อำนาจพิเศษ เพื่อประโยชน์ของหัวคะแนน แม้กระทั่ง ’ตลกหลงยุค“ ที่เผลอได้อำนาจ ยังแสดง ’อาการกร่าง“ ใช้สื่อมวลชนช่วยยก เพื่อนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว แต่บังเอิญใช้ผิดคน พฤติกรรมเลยถูกเปิดโปง

มิหนำซ้ำยังมี “เอ็นจีโอ” ที่เล่นบทอิงแอบอำนาจรัฐ ดอดมา รีดเงิน ศปภ. ไป 3 ล้านบาท มาถึงวันนี้ยังไม่เคยออกมาชี้แจงแถลงไข ว่า นำเงินก้อนนั้น ไปใช้ทำอะไร แถมยังไม่กล้า ’สบหน้าสบตาผู้คน“ เพราะกลัวว่าจะเก็บงำอาการพิรุธไว้ได้ไม่มิด แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า เงินหลวง “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ใครนำไปใช้ในทางไม่ถูก ชีวิตไม่มีทางอยู่เป็นสุขได้

ผมก็ได้แต่หวังว่า “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คงไม่ทำให้คนไทยต้องเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย ซ้ำเป็นปีที่สองติดต่อกัน  เพราะ ’แพงทั้งแผ่นดิน“ ท่านก็ยังแก้ไม่ได้ หากเกิด ’ท่วมทั้งแผ่นดิน“ รอบใหม่ อยู่ไม่ได้แน่นอนครับ

อย่างมาตรการใน การขุดลอกคูคลอง ลอกท่อระบายน้ำ  สร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำรอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรม ทำไปถึงไหนแล้วครับ และโจทย์ที่ท้าทาย หากปริมาณน้ำมากเท่ากับปีที่ผ่านมา จะมีวิธีการรับมืออย่างไร โดยเฉพาะการหา “แหล่งรับน้ำ” คิดได้ช่วยตอบให้ได้ยินด้วยครับ

ที่สำคัญคือ การจ่ายเงินเยียวยา นอกเหนือจาก จำนวน  5,000 บาท สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจนทำให้ เกิดปัญหากับโครงสร้างบ้าน หรือด้วยระยะเวลาที่ต้องอยู่กับน้ำเป็นเวลานาน คนพวกนี้เขาจะได้สิทธิต่าง ๆ หรือเปล่าครับ ช่วยเร่งรัดเจ้าหน้าที่ให้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้วย

พูดไปถึงภาครัฐแล้ว มาว่ากันถึงเอกชน ด้วยเหตุที่ผมเป็น ผู้ประสบภัย เลยทำให้มีโอกาสได้สนทนาปราศรัยกับ เพื่อนร่วมชะตากรรม ที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ครับ...เจอภัยธรรมชาติว่าหนักแล้ว ยังต้องมาเจอ ความไม่รับผิดชอบ ของ เจ้าของโครงการที่พักอาศัย เพราะหลังจากผ่านพ้นช่วงอุทกภัย ถนน สนามหญ้า บ่อบำบัดน้ำเสีย สภาพภูมิทัศน์หรือพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับการซ่อมแซมหรือปรับปรุง

พยายามกดดันให้ลูกบ้านรับสภาพการเป็น “นิติบุคคล” โดยเร็ว เพื่อปัดความรับผิดชอบ และผลักภาระมาให้ผู้อยู่อาศัย เดี๋ยววันหลังผมจะนำรายละเอียดว่า ใครเป็นเจ้าของโครงการนี้มาบอกกล่าวให้รับรู้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เหมือนผมและลูกบ้านที่กำลังตกอยู่ในสภาพ ’หน้าชื่น อกตรม“.

เขื่อนขันธ์

แสดงความคิดเห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น