วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปลูกข้าวหนีน้ำท่วมลดความเสียหาย




เกษตรอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวเหลื่อมฤดูหวังแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และลดความสูญเสียงบประมาณจ่ายค่าชดเชย ตลอดทั้งเป็นการเพิ่มผลผลิตและ คัดพันธุ์ข้าวคุณภาพ
วันนี้ (24 พ.ค.) ที่สำนักงานเกษตรอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นายสุดใจ  บัวลอย เกษตรอำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอฆ้องชัย เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำชีไหลผ่าน เหมาะในการทำนาข้าว ประชากรมีอาชีพหลักในการทำนาร้อยละ 90  เกษตรกร 4,356 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่ทำนาปีประมาณ 66,000 ไร่  ผลผลิตข้าวนาปีเฉลี่ย 765 ก.ก.ต่อไร่ ขณะที่ทำนาปรังประมาณ 43,973 ไร่ ผลผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ย 1,000 ก.ก.ต่อไร่ พันธุ์ข้าวที่ใช้สำหรับทำนาปี ได้แก่ ข้าวเจ้าขาวดอกมะลิ 105 ข้าวเหนียว กข 6 มีผลผลิตโดยรวม 50,493 ตัน  ที่ผ่านมาได้ผลผลิตโดยรวมประมาณ 27,506 ตัน  คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งปีประมาณ 41.2 ล้านบาท

นายสุดใจ กล่าวอีกว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มดังกล่าว ทำให้เกิดสภาวะน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวทำความเสียหายแก่ผลผลิตเป็นประจำทุกปี เช่น ในปีการผลิต 2554/55 เกิดวิกฤติน้ำท่วมในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2554 เกษตรกรอำเภอฆ้องชัยประสบภัยน้ำท่วม 953  ครัวเรือน พื้นที่นาข้าว 8,493 ไร่ สูญเสียผลผลิตที่พึงได้ประมาณ 6,378  ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 95,673,645 บาท ขณะที่รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณชดเชยค่าใช้จ่าย และเยียวยาผลผลิตที่พึงได้แก่ผู้ประสบภัย 28,054,792 บาท

“เกษตรอำเภอฆ้องชัย  ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าว เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่  เพื่อเป็นต้นแบบแก่เกษตรกรผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและผู้สนใจทั่วไป  โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก  เลื่อนเวลาปลูกข้าวนาปีเร็วกว่าปกติ คือช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2555 พันธุ์ข้าวที่ใช้เป็นข้าวไม่ไวแสง อายุสั้น 3 เดือนได้เก็บเกี่ยว คือพันธุ์ ชัยนาท 1,  กข 10, พิษณุโลก 2, สุพรรณบุรี 60 และปทุมธานี 1  คาดว่าจะเก็บเกี่ยวในเดือนมิ.ย.-ก.ค. 2555 ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำนาปีเพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม จากเดิมที่เคยเริ่มเพาะปลูกในเดือนมิ.ย.-ส.ค. และเก็บเกี่ยวช่วงปลายพ.ย.-ธ.ค. ซึ่งจะประสบกับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นทางเลือกในการปลูกข้าวสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการผลิตข้าวได้หลายรอบการผลิตในหนึ่งปี  บางปีที่ไม่เกิดภาวะน้ำท่วม หรือบางรายที่วางระบบบริหารจัดการน้ำในแปลงนาได้ดี  อาจเพาะปลูกและได้ผลผลิตข้าวปีละ 3 ครั้งทีเดียว” นายสุดใจ กล่าว.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น