วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

"พระจันทร์ขยิบตา" 24-27 มีค. ทั่วฟ้าเมืองไทย


วันที่ 22 มี.ค. รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ค่ำคืนวันที่ 24-27 มี.ค. นี้ จะเกิดปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สวยงามน่าติดตามชม คือ  ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ซึ่งสามารถติดตามชมได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี จะอยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยว คล้ายพระจันทร์ยิ้ม เพียงแต่ครั้งนี้การจัดเรียงแตกต่างกัน โดยวันที่ 24 มี.ค. ดวงจันทร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ เรียงตัวกันเป็นเส้นโค้ง มีดวงจันทร์เสี้ยว 2 ค่ำ อยู่ด้านล่างสุด  สูงจากเส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ประมาณ 9 องศา วันดังกล่าวยังมีโอกาสสังเกตเห็นปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) ที่สะท้อนจากโลกไปตกบนดวงจันทร์ให้ปรากฏความสว่างเรื่อในส่วนมืดของดวงจันทร์ได้อีกด้วย

ส่วนวันที่ 25 มี.ค. จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยว 3 ค่ำ อยู่ด้านล่าง สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกประมาณ 25 องศา ถัดขึ้นไปประมาณ 6 องศา จะเป็นดาวพฤหัสบดี และถัดไปอีก 15 องศา จะเป็นดาวศุกร์
วันที่ 26 มี.ค. จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยว 4 ค่ำ สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกประมาณ 38 องศา ปรากฏอยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวศุกร์ หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีวัตถุท้องฟ้าเรียงตัวกันเป็นเส้นตรงถึง 4 วัตถุ คือ ดาวพฤหัสบดี  ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และกระจุกดาวลูกไก่
วันที่ 27 มี.ค. จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยว 5 ค่ำ ขยับขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยดวงจันทร์จะขยับไปเคียงกับกระจุกดาวลูกไก่ แต่เนื่องด้วยแสงสว่างจากดวงจันทร์ในช่วงเวลาข้างขึ้น 5 ค่ำ ทำให้ความชัดเจนของการสังเกตเห็นกระจุกดาวลูกไก่ลดลง หากปรับสายตาก่อนสังเกตการณ์ ก็จะมองเห็นภาพความสวยงามของการเรียงตัวกันของดาวเคราะห์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน เห็นได้ด้วยตาเปล่าจากทุกภูมิภาคของประเทศ โดยจะเห็นได้ชัดเจนหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ที่พลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ดังกล่าว เข้าไปชมภาพได้ใน เว็บไซต์ของสถาบันฯ www.narit.ir.th หรือชมภาพจากทางบ้านที่บันทึกไว้และนำมาแลกเปลี่ยนกันใน www.facebook.com/สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ด้านนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ท้องถิ่น จ.ฉะเชิงเทรา กรรมการที่ปรึกษาสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า การเคียงกันครั้งนี้ มีลักษณะเป็นดาวล้อมเดือน เพราะดาวพฤหัสบดีกับดาวศูกร์อยู่ด้านบนกับด้านล่าง อีกทั้งโอกาสที่ดาวพฤหัสบดี กับดาวศุกร์จะมาอยู่เคียงกัน ต้องใช้เวลา 2 ปี เพราะดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ชั้นในอยู่แค่ระดับขอบฟ้า ส่วนดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ชั้นนอกที่เห็นได้ตลอดคืน การมาอยู่ในมุมเดียวกันจึงเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์คล้ายพระจันทร์ยิ้ม แต่คราวนี้ เป็นพระจันทร์ตาเหล่ หรือตาขยิบ ในวันที่ 25 มี.ค. ดาวศุกร์อยู่ด้านบน ดาวพฤหัสบดีอยู่ด้านล่าง ปากจะเบี้ยว เพราะเป็นพระจันทร์เสี้ยวเล็ก  ส่วนวันที่ 26 มี.ค. จะสวย เพราะระหว่างดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี มีดวงจันทร์ 4 ค่ำ และดวงจันทร์มีแสงโลกสะท้อนเงาขึ้นไป

แหล่งที่มาของข้อมูล www.dailynews.co.th     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น